เขียนเล่าข่าว : ดีเซลกับการช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน

114
- Advertisment-

เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีการส่งสัญญาณมาจากกระทรวงพาณิชย์ ให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน พิจารณาปรับเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล หรือ B100 ในน้ำมันดีเซล จาก 5% เป็น 7% หรือ จากดีเซล B5 เป็น B7 หลังจากที่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงพลังงานมีการปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันดีเซลจาก B7 เป็น B5 ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนครั้งนี้หวังให้เกิดการดูดซับน้ำมันปาล์มออกจากตลาด เพิ่มดีมานด์ และลดซัพพลายให้รวดเร็ว เพื่อช่วยดึงราคาผลปาล์มและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ จากที่ก่อนหน้านี้เคยได้ราคาดี แต่ราคาลานเท ณ วันที่ 26 เม.ย. 68 ตกลงมาอยู่ 3.80-4 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ชาวสวนเดือดร้อน เพราะโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันหยุดรับซื้อเพราะมีน้ำมันปาล์มดิบล้นสต็อก ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ จะประชุมกันในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 นี้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

หากพิจารณาในข้อเท็จจริง การมองว่ากระทรวงพลังงานควรเป็นคนหาทางออกแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเหมือนต้องให้ประชาชนอีกกลุ่ม คือ ผู้ใช้น้ำมันดีเซล มาแก้ปัญหาให้กับคนอีกกลุ่ม คือ ชาวสวนปาล์ม โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงงานผลิตไบโอดีเซล รวมถึง โรงงาน B100 หรือไม่? โดยที่ผ่านมา รัฐบาลเคยส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในสัดส่วนสูงถึง 20 % หรือที่เรียกว่า ดีเซล B20 ก่อนที่จะลดสัดส่วนลงมาเรื่อยๆ เพราะราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกพุ่งสูง แต่รัฐบาลมีนโยบายกำหนดเพดานราคาดีเซลเอาไว้ด้วย ดังนั้น การที่ช่วยให้ B100 มีราคาแพงขึ้นเพื่อหวังว่าจะไปช่วยดึงราคาผลปาล์มน้ำมันดิบช่วยเกษตรกร จึงกลายเป็นการนำของแพง (B100) ไปผสมกับของราคาดีเซล (ช่วงราคาตลาดโลกปรับสูงขึ้น) ผลก็คือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแบกภาระหนี้หนัก

ที่ผ่านมา ในบางปีที่ผลปาล์มน้ำมันร่วงหนัก เหลือ 2.50 บาทต่อกิโลกรัมอย่างปี 2562 กระทรวงพลังงานก็ยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยการนำน้ำมันปาล์มดิบไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งก็ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง คือผู้ใช้ไฟฟ้า มาช่วยรับภาระแทนคนอีกกลุ่ม คือชาวสวนปาล์มเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนสูงกว่าก๊าซธรรมชาติไปผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ต้นทุนค่าเอฟทีในค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามในระยะยาวกระทรวงพลังงานพยายามที่จะส่งสัญญาณให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การจัดโซนนิ่งการปลูกปาล์มเพื่อควบคุมดีมานด์ การเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่เพื่อการลดต้นทุนการผลิตลง ในขณะที่ด้านซัพพลาย นอกจากการนำผลผลิตปาล์มในอุุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มแทนการใช้เป็นเชื้อเพลิง ในส่วนของ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ก็กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายในปี 2567 ด้วย แต่เมื่อใกล้ถึงเวลากำหนด คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในขณะนั้น ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 ก็มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี เป็น 24 กันยายน 2569 จากเดิมที่ต้องหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2567

ก็คงต้องติดตามดูเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มของรัฐบาลว่ายังจำเป็นที่จะต้องให้กระทรวงพลังงานยื่นมือเข้าไปช่วยต่ออีกหรือไม่ หรือการชดเชยราคาจะสิ้นสุดลงจริงๆ ในเดือนกันยายน 2569

Advertisment