เกาะติดภารกิจพิชิตภูเขาโคลน ของทีมจิตอาสา กฟผ. 

288
- Advertisment-

มวลน้ำมหาศาลที่พัดพาโคลนเข้าท่วมหมู่บ้านถ้ำผาจมและตลาดสายลมจอยซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถูกขนานนามว่าเป็น “สึนามิน้ำจืด” ที่พรากทั้งชีวิตและทรัพย์สินของชาวแม่สายไปอย่างไม่ทันตั้งตัว บ้านเรือนกว่า 160 หลังคาเรือนต้องจมอยู่ใต้ภูเขาโคลนสูงเกือบ 3 เมตร การกำจัดภูเขาโคลนเพื่อให้ชาวแม่สายกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านได้อย่างปลอดภัยเช่นเดิม จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด

เครื่องจักรกลขนาดใหญ่กว่า 15 คัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งรถตักหน้าขุดหลัง รถตักล้อยาง รถขุดล้อยาง รถบรรทุกเทท้ายขนาด 6 ล้อ และ 10 ล้อ รวมถึงรถบรรทุกน้ำพร้อมหัวฉีด ซึ่งระดมมาจากทั้งเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มุ่งหน้าสู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพราะรู้ดีว่าเหตุการณ์ที่ชาวแม่สายต้องเผชิญนั้นหนักหนาสาหัสเพียงใด

“พอผมเห็นรถคันใหญ่ ๆ ของ กฟผ. ผมโคตรดีใจเลย เพราะศักยภาพของเทศบาลมีแค่รถแบคโฮคันเล็ก ๆ คันเดียว ทำได้แค่วันละไม่กี่เมตร ถ้าไม่มีรถตักหน้าขุดหลัง ไม่มีรถบรรทุกคันใหญ่ของ กฟผ. ที่ขนดินได้ทีละเยอะ ๆ ถนนไม่มีทางทะลุได้”  

- Advertisment -

คำบอกเล่าทั้งน้ำตาของ “ขุนศึก” เกรียงศักดิ์ อำพรไพ อายุ 49 ปี เจ้าของร้านคาเฟ่ริมน้ำสาย แทนความรู้สึกตื้นตันใจของคนบ้านถ้ำผาจมที่ความหวังเคยถูกกดทับด้วยภูเขาโคลนดิน แต่ด้วยพลังของทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันอย่างเต็มกำลัง ทำให้ภูเขาความทุกข์ลูกนี้เหมือนถูกยกออกจากอกเลยทีเดียว

เกรียงศักดิ์ อำพรไพ เจ้าของร้านคาเฟ่ริมน้ำสาย

ภารกิจของทีมจิตอาสา กฟผ. ที่ได้รับมอบหมายในการร่วมกู้วิกฤตตลาดแม่สายครั้งนี้ คือ นำดินโคลนออกจากถนนเทศบาล 21 ซึ่งเป็นถนนสายหลักตั้งแต่บ้านถ้ำผาจมจนถึงตลาดสายลมจอยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ระยะทาง 650 เมตร เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานอื่น ๆ ได้นำรถขุดขนาดเล็กสำหรับเอาดินโคลนออกจากบ้านเรือน รวมถึงการช่วยบรรจุและวางถุงบิ๊กแบ๊กเป็นพนังกั้นแม่น้ำสายตลอดแนวหมู่บ้านเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้ามาในพื้นที่ และนำรถบรรทุกน้ำไปฉีดล้างทำความสะอาดคราบโคลนตามบ้านเรือน

พัชระ นามะเสน หนึ่งในจิตอาสา กฟผ. จากเหมืองแม่เมาะ เล่าถึงภารกิจครั้งนี้ว่า ชุมชนถ้ำผาจมเป็นพื้นที่สีแดงด่านแรกที่รองรับน้ำจากแม่น้ำสาย ทำให้พื้นที่หน้างานมีดินตะกอนจากน้ำท่วมทับถมสูงเกือบ 3 เมตร ซึ่งชาวบ้านก็พยายามช่วยเหลือตัวเอง แต่ด้วยปริมาณดินโคลนมหาศาลจึงเกินความสามารถที่ชาวบ้านจะทำเองได้ จึงต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อคืนพื้นที่ให้ชุมชนโดยเร็วที่สุด ทุกคนจึงต้องนำองค์ความรู้จากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาดินสไลด์ น้ำขัง และการขุดขนดินภายในเหมืองแม่เมาะมาประยุกต์ใช้กับภารกิจครั้งนี้ โดยใช้รถตักหน้าขุดหลังเบิกทางไปจนถึงตลาดสายลมจอย โดยอุปสรรคสำคัญของการทำงานคือ เศษเหล็ก ตะปู และของมีคมจากซากปรักหักพังที่นำออกมาจากบ้านเรือนทำให้เครื่องจักรล้อยางเกิดการฉีกขาด ต้องปะและซ่อมแซมตลอด แต่ก็ดีใจที่ได้มาปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ทุกเย็นก่อนเลิกงานก็จะมีรอยยิ้มและเสียงปรบมือแทนคำขอบคุณของชาวบ้านเป็นกำลังใจ

เช่นเดียวกับ อาทิตย์ จันทรากูล พนักงานขับเครื่องจักรกลจากเขื่อนภูมิพลที่บอกว่า การนำดินโคลนออกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นโคลนเหลว มีน้ำมาก ทำให้ไม่สามารถตักใส่รถบรรทุกได้ จึงต้องทำเป็นคันดินกั้นไว้ แล้วตักน้ำออกก่อน จึงจะสามารถตักดินโคลนออกไปทิ้งได้ แม้ต้องทำงานนานถึงวันละ 9 ชั่วโมง แต่เห็นชาวบ้านเดือดร้อน ไม่เหลืออะไรแล้ว ก็อยากช่วยให้พวกเขาได้กลับเข้าบ้านเร็ว ๆ

ปัจจุบัน กฟผ. สามารถส่งมอบคืนพื้นที่ถนนเทศบาล 21 ให้แก่เทศบาลตำบลเวียงพางคำและเทศบาลตำบลแม่สายเพื่อให้หน่วยงานอื่นเข้าปฏิบัติการฟื้นฟูในระยะถัดไปได้เรียบร้อยแล้ว  

“ทีมงาน กฟผ. เป็นมืออาชีพ มีความชำนาญ และมีเครื่องจักรกลหนัก ทำให้สามารถเปิดเส้นทางจากถ้ำผาจมจนถึงด่านพรมแดนภายใน 10 วัน จากเดิมที่เคยประเมินสถานการณ์ไว้ 2-3 เดือน และทำให้งานฟื้นฟูเดินหน้าได้เร็วมากประมาณ 80% จากนี้ทางเทศบาลจะนำรถแบคโฮเล็กเข้าตามบ้าน และล้างทำความสะอาด ชาวบ้านก็มีความหวังว่าจะได้กลับเข้าบ้านเร็วขึ้น” นายบัณฑิตย์ พันธ์พลากร สมาชิกเทศบาลเวียงพางคำ กล่าวทิ้งท้าย

แม้การกำจัดดินโคลนจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภารกิจฟื้นฟูตลาดชายแดนแม่สาย แต่ กฟผ. ก็ภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นพลังเล็ก ๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องชาวแม่สายให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้โดยเร็ว

Advertisment