เก่าะกูด จ. ตราด ประเทศไทย
- Advertisment-

การเจรจาแก้ปัญหาข้อพิพาทพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ระหว่างไทยกับกัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA ) นั้นเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ที่ประกาศต่อรัฐสภาทั้งในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

ที่ผ่านมามีวงเสวนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่จนถึงขณะนี้ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุอันใด รัฐบาลก็ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee ) หรือ JTC ฝ่ายไทย เป็นกลไกในการเจรจา ตามบันทึกความเข้าใจที่ตกลงไว้ร่วมกัน หรือ MOU 2544 ได้เสียที ทำให้นโยบายที่เร่งด่วนของรัฐบาล มีความล่าช้า และทั้งสองประเทศต่างเสียโอกาสที่จะนำทรัพยากรปิโตรเลียมที่เชื่อว่ามีศักยภาพสูงในพื้นที่ OCA ดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในทางการเมืองมีประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และพุ่งเป้าไปเฉพาะที่รัฐบาลแพทองธาร ว่าด้วยข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU 2544 โดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อตกลงที่ฝ่ายไทยไปยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนทางทะลของฝ่ายกัมพูชา ที่ลากกินเขตแดนทางทะเลของฝั่งไทยแบบตามใจชอบ ไม่เป็นไปตามหลักการสากล โดยหากยังเดินหน้าตาม MOU 2544 ต่อไป อาจจะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนเกาะกูด จังหวัดตราดในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยมิอาจยอมได้

- Advertisment -

ประเด็นข้อกังวลเรื่องการเสียดินแดนเกาะกูดนั้น ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการกิจการทหารด้านความมั่นคงแบบองค์รวม ครั้งที่ 4/2568 ที่มีพลเอกสวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะ กมธ. เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา โดยรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ชี้แจงต่อ กมธ. ให้ความมั่นใจว่า ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณเกาะกูด และชี้ให้เห็นว่าการประกาศเขตไหล่ทวีปของประเทศไทย ด้านอ่าวไทยปี 2516 คือการไม่ยอมรับการประกาศไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชา ปี 2515 ดังนั้นทั้งไทยและกัมพูชา จึงได้เจรจาร่วมกันเพื่อแบ่งเขตแดนทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ทางทะเลร่วมกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตามกรอบ MOU 2544

ในขณะที่ผู้แทนกรมแผนที่ทหาร ผู้แทนกรมอุทกศาสตร์ และผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่างชี้แจงถึงภารกิจความรับผิดชอบตามหน้าที่ที่มีอยู่บนเกาะกูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันชัดเจนว่า เกาะกูดนั้นเป็นของไทย

ส่วนในงานเสวนาหัวข้อ “OCA ไทย-กัมพูชา: ข้อเท็จจริง และทางเลือก” ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ที่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงและข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งมิติด้านกฎหมายระหว่างประเทศ พลังงาน และนิติบัญญัติ รวมถึงบทบาทภาครัฐ นั้น ทางคุณ อังกูร กุลวานิช รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ก็ได้ย้ำต่อผู้ร่วมเสวนาอีกครั้งว่า MOU 44 เป็นเพียงความตกลงให้ไปเจรจา พูดคุย หารือกัน ไม่ใช่การยอมรับการอ้างสิทธิ์ของกัมพูชา ซึ่งการเจรจานั้น จะต้องเจรจาเรื่องเขตแดน และการพัฒนาร่วมไปพร้อมกันไม่แยกออกจากกัน และแต่ละเรื่องยังไม่ได้มีการตกลงใด ๆ ระหว่างกันทั้งสิ้น

รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยังบอกด้วยว่า MOU 44 ไม่ได้ขัดต่อพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีป เพราะตามพระบรมราชโองการฯ ก็ได้ระบุให้มีการไปเจรจาตกลงกัน และเป็นพันธะกรณีที่ทำให้ไทย และกัมพูชา ใช้วิธีการสันติวิธีโดยการเจรจา โดยหากไม่มี MOU 44 กัมพูชาอาจจะไม่เจรจาก็ได้ และแม้จะยกเลิก MOU 44 เส้นอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชา เมื่อปี 2515 ก็ยังคงอยู่

ที่มา : การถ่ายทอดสด Facebook Live งานเสวนาหัวข้อ “OCA ไทย-กัมพูชา : ข้อเท็จจริงและทางเลือก” โดยกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 28 มกราคม 2568 

“ประเทศไทย ไม่เสียเกาะกูดแน่นอน ไม่ว่ากัมพูชา จะอ้างสิทธิอย่างไรก็ตาม เพราะประเทศไทย มีอธิปไตยเหนือเกาะกูด แต่การอ้างสิทธิของกัมพูชานั้นไม่ถูกต้อง จึงทำให้ไทยต้องเจรจาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความถูกต้อง” รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายย้ำในเวทีเสวนา

สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ทั้งร่วมในงานเสวนาดังกล่าว และเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องอธิปไตยบนเกาะกูด โดยหยิบยกเอาสนธิสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 (ค.ศ.1907) นั้นมีข้อความในสนธิสัญญาที่ระบุถึงการคืนเกาะกูดและอื่นๆ ให้กับไทยว่าไว้ดังนี้ “ข้อ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย แลเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม…”

นอกจากนี้ในเส้นแสดงทะเลอาณาเขตของกัมพูชา ก็แสดงชัดเจนว่ากัมพูชาไม่ได้อ้างสิทธิเหนือเกาะกูดเลย แถมมีอักษรกำกับไว้ด้วยว่า “เกาะกูด (สยาม)” ชี้ให้เห็นว่า กัมพูชา ไม่เคยอ้างอธิปไตยบนเกาะกูด แถมยอมรับว่า เกาะกูด เป็นของไทย มาตั้งแต่ต้น

และในมุมมองว่าควรยกเลิก MOU 2544 หรือไม่นั้น ดร.คุรุจิต ทั้งกล่าวแสดงความคิดเห็นในหลายเวทีและเขียนเป็นบทความเอาไว้ ในฐานะที่เป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการเจรจาเขตแดนทางทะเลและไหล่ทวีปกับประเทศเพื่อนบ้านว่า ไทยไม่ควรยกเลิก MOU 2544 ที่ทำไว้กับกัมพูชา แต่ควรมุ่งมั่นเดินหน้าต่อตามกรอบที่วางไว้ และ เจรจาเรื่องพื้นที่ทั้งสองส่วน (แบ่งเขตแดนตอนบน กับทำพื้นที่พัฒนาร่วม JDA ตอนล่าง) ให้เสร็จไปพร้อมกัน รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภาและองค์กรอิสระ สร้างฉันทามติให้เกิดขึ้น เดินหน้าต่ออย่างมุ่งมั่นและมีหลักการ เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาพลังงาน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดย ดร.คุรุจิต มองว่าหากยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว ไทยจะไปเจรจาต่ออย่างไร เพราะในการเจรจาด้านการต่างประเทศที่หวังผลสำเร็จ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พึงไปยื่นคำขู่หรือคำขาด (ultimatum) ที่จะทำให้ขัดแย้งหนักขึ้นไปอีก และเปิดช่องให้ประเทศที่สามมาแทรกแซงในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย

และชี้ให้เห็นภาพด้วยว่า หากยกเลิก MOU ไปจริงๆ ก็น่าจะเข้าทางกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มที่มีอยู่ในสองประเทศทันที เพราะคนบางกลุ่มไม่ต้องการจะเห็นการแก้ไขปัญหาแบ่งเขตแดนกันไปเลยในพื้นที่ OCA ส่วนบน แต่อยากจะผลักดันให้เจรจาสองส่วนจบไม่พร้อมกัน โดยกลุ่มนี้มีแนวคิดว่า ควรให้ทั้งสองประเทศทำพื้นที่พัฒนาร่วมหรือ Joint Development Area (JDA) เฉพาะในพื้นที่ OCA ส่วนล่างไปก่อน พื้นที่ OCA ส่วนบนก็ค้างรอไปก่อน เจรจาเรื่องแบ่งเขตไปเรื่อยๆ แต่ส่วนที่พร้อมจะ JDA ก็ทำกันไปก่อน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ดร.คุรุจิต เชื่อว่าจะไม่มีทางผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไทยเลย

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน

ดังนั้นเมื่อ MOU 2544 ยังมีความสำคัญที่ต้องเดินต่อ การตั้ง JTC ก็ควรเกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายบอกว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอขอความเห็นชอบการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีก่อนการเจรจา

ในขณะที่มุมมองของ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าคณะกรรมการ JTC จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และต้องมีการเจรจาให้สำเร็จผ่านคณะกรรมการ JTC ก่อน จึงค่อยมาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน

มาถึงจุดนี้ ทุกฝ่ายยอมรับถึงความสำคัญของพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ที่น่าจะคลายความกังวลเรื่องการเสียเกาะกูด ยอมรับความจำเป็นที่ต้องเดินหน้า MOU 2544 และการมีคณะกรรมการ JTC เป็นกลไกในการเจรจา เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายคือการนำทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ OCA มาใช้ประโยชน์ให้ทันต่อช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานหรือ Energy Transition จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียวที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กระแสโลกให้ความสำคัญ

โดยเรื่องนี้ ดร.คุรุจิต เน้นย้ำด้วยเหตุผลเชิงวิชาการ ว่า ก๊าซธรรมชาติจาก OCA นั้นมีความสำคัญต่ออนาคตความมั่นคงทางพลังงานของไทย และควรสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เพราะว่า ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในส่วนของไทยนั้นลดลงอย่าง “วิกฤต” เพราะไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งที่ผ่านมาไทยแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) จากต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่าเข้ามาทดแทน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าประชาชนมีราคาแพงขึ้นประเทศจึงตกอยู่ในความเสี่ยงด้าน Energy Supply

ดร.คุรุจิต ยังเขียนลงในบทความด้วยว่า “พื้นที่ OCA เป็นทั้งโอกาสและความจำเป็นที่ไทยควรเร่งเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชา เพื่อให้เกิดการแสวงหาและพัฒนาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่องไปอีกในราคาที่เหมาะสม มิให้เกิดการหยุดชะงัก (Disruption) ต่อการผลิตไฟฟ้าและ LPG ของประเทศ”

พร้อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสด้วยว่า “เมื่อทั้งสองประเทศต่างก็ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและพลังงาน ในขณะที่ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำมีมากขึ้น ดังนั้นในการเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ OCA กับกัมพูชา รัฐบาลไทยควรตั้งทีมเจรจาที่นำโดยข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ และประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กรอบอำนาจหน้าที่และชั้นความลับในการเจรจา โดยคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ การมีสัมพันธ์ที่ดีและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศเพื่อนบ้านและการได้ประโยชน์ร่วมกันจากแหล่งพลังงาน และพยายามหาทางออกมาเสนอต่อรัฐบาลทั้งสองที่จะเป็น Win Win Solution สำหรับทุกฝ่าย และยังจะช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศสมาชิกอาเซียนให้แน่นแฟ้นดีขึ้นด้วย”

ดังนั้นจึงต้องรอคำตอบการเดินหน้า เรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ผ่านการตั้งคณะกรรมการร่วม JTC ที่ไม่ควรให้ล่าช้ามากไปกว่านี้

Advertisment