ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน (Energy Transition ) และแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
วันที่ 21 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี” ณ ห้องประชุมสวนรวมใจ 2 ตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย เตชัสอนันต์ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ด้านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและศิษย์เก่า รองศาสตราจารย์ ดร.เชาวน์ดิศ อัศวกุล รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ด้านวิจัยและการสร้างผลกระทบต่อสังคม และ ดร.ประดิษฐพงษ์ สุขสิริถาวรกุล Director & Vice President บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมในพิธี
โดยการลงนามครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา การวิจัยพัฒนา และการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี ให้กับนิสิต นักศึกษา และคณาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับพลังงานในปัจจุบันและอนาคต อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Transition) ความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality ) ไมโครกริด ( Microgrid ) ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ ( BESS ) การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (e-Mobility) ไฮโดรเจนสีเขียว ( Green hydrogen ) และอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน ( Sustainable Energy Future ) ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสและยกระดับมาตรฐานการศึกษา พัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถด้านพลังงานที่สอดคล้องกับความต้องการและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับประเทศได้ในระยะยาว
พร้อมกันนี้ทางภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจเข้าฝึกงานที่บริษัทประจำปี 2565 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 280 ชั่วโมง เข้าร่วมในโครงการ Supporting Apprentice Students Program กับทางบริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย ซึ่งทางบริษัทพร้อมเปิดโอกาสให้นิสิตทุกคน ร่วมแสดงความคิดเห็นและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ด้วยแนวทางการประสานความหลากหลาย ผสานการทำงานร่วมกัน เพื่อนำมาซึ่งนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยม
โดยตลอดการฝึกงานนิสิตทุกคนจะมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้ให้คำแนะนำในแต่ละขอบเขตงานที่เลือก เพื่อให้ได้รับความรู้ทักษะอย่างสูงสุดจากผู้เชี่ยวชาญ และเพิ่มประสิทธิผลระหว่างการฝึกงานอย่างเต็มที่ ก่อนสิ้นสุดโครงการทางบริษัทมีระบบประเมินผล รวมถึงระบบการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรม เพื่อวัดทัศนคติ ความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกงานของโครงการ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีกลุ่มเทคโนโลยีให้นิสิตได้เลือกฝึกงานตามความสนใจ 14 กลุ่ม ประกอบด้วย
- Grid Edge Solutions with e-mesh™
- Grid-eMotion™ Charging solutions for E-mobility
- Hydrogen Energy
- Power Quality
- Digitalization & Cybersecurity
- Asset & Work Management with Lumada
- Energy Planning & Trading
- EconiQ™ eco-efficient portfolio for sustainability
- FACTS (Flexible Alternating Current Transmission Systems) technologies
- HVDC (high-voltage direct current)
- Smart Grid & Digital Substations & Electrification
- Power Transformers with TXpert™ Ecosystem
- Substation Automation, Protection & Control and SCADA
- High Voltage Switchgear & Breakers, Instrument Transformer, Surge Arrester, Capacitor & Filters and Generator Circuit Breakers
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยและทางบริษัท จะได้มีโอกาสร่วมกันกำหนดรูปแบบ ลักษณะของการให้การสนับสนุนทางการศึกษา การทำโครงงาน และการฝึกงานให้แก่นิสิตนักศึกษา เช่น การฝึกงานในโครงการ Supporting Apprentice Students Program การอบรมสัมมนา การวิจัย การสนับสนุนอุปกรณ์ Hardware และสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนของโครงงานของนักศึกษาทั้งในระดับระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย สำหรับบันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในข้อตกลง ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจตกลงกันขยายระยะเวลาความร่วมมือออกไปได้ตามความเห็นชอบร่วมกันในอนาคต
ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มีการคาดการณ์กันว่าภายในอีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะเพิ่มเป็น 2 เท่า โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Transition) จากการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบมากขึ้น โดยมีผู้บริโภคหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองจากโซลาร์เซลล์มากขึ้น และขายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าเพื่อส่งต่อไปใช้ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือที่เรียกว่า Prosumer นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่จะช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมทั้งทิศทางพลังงานในอนาคตที่เป็นพลังงานทางเลือก เช่น ไฮโดรเจนและแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ทั้งนี้ หากต้นทุนราคาถูกลงจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
ประเด็นเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ไฟฟ้าจะกลายเป็นส่วนที่สำคัญ หรือ Backbone ในระบบพลังงานของประเทศ ซึ่งเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น มีความซับซ้อนที่มากขึ้น ก็จำเป็นจะต้องมีระบบเทคโนโลยี และโซลูชั่นต่างๆที่ทันสมัยเข้ามาช่วยจัดการ
“ในฐานะที่ทาง ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นไพโอเนียร์ ผู้พัฒนาระบบเทคโนโลยีโซลูชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Energy Transition และได้รับความไว้วางใจในหลายประเทศ การที่มีความร่วมมือกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะช่วยต่อยอดให้โซลูชั่นต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการในเชิงพื้นที่ได้ดีขึ้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรต่างๆ รวมถึงกำลังคน รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต” ดร.วรวุฒิ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือกับทางฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ จะช่วยให้ทางมหาวิทยาลัยมองเห็นแนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานในอนาคตที่ตรงกัน และสามารถที่จะปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องเพื่อพัฒนาบุคลากร นิสิตนักศึกษาออกมารองรับ มีการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยรวมทั้งต่อยอดงานวิจัยเดิมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมไฟฟ้าได้
–
–