อัพเดท 2 ปี โครงการนำร่อง Rigs-to-Reefs ครั้งแรกของเมืองไทย​ ชี้ผลสำเร็จในเชิงบวกทั้งมิติของธรรมชาติ และมิติของมนุษย์

223
- Advertisment-

การพลิกบทบาทขาแท่นปิโตรเลียม สู่บ้านปลาหลังใหม่ใต้ทะเล​ ด้วยโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี​ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)​ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโครงการฯ ร่วมกับ เชฟรอน ผู้ส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วจำนวน 7 ขาแท่น ให้แก่ ทช. ในปี 2563 เพื่อนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม รวมทั้งให้การสนับสนุนในการจัดวางและงบประมาณการดำเนินโครงการฯ และ​ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาทางวิชาการให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ

ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด​

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด​ กล่าวว่า​ จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากคำถามที่ว่า ทำอย่างไร​ จะสามารถใช้ประโยชน์จากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการนำไปจัดการบนฝั่ง  

โดยตลอดเวลากว่า 60 ปีในการดำเนินธุรกิจของเชฟรอนในประเทศไทย เชฟรอนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และได้ตรวจวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลมาโดยตลอด เราสังเกตถึงความอุดมสมบูรณ์และการเติบโตของประชากรปลาในบริเวณแท่นผลิตปิโตรเลียม โดยมีปลาหลากหลายชนิด รวมถึงฉลามวาฬแวะเวียนเข้ามาเสมอ

- Advertisment -

โดยนอกจากบทบาทขณะที่อยู่กลางอ่าวไทยในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศแล้ว ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมยังมีอีกหนึ่งบทบาทแฝงซึ่งทำหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่ตลอดด้วย จึงเกิดแนวคิดต่อยอดการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรทางทะเลรวมถึงประชากรปลาผ่านการพลิกบทบาทจากปลายทางของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วสู่บ้านปลาแห่งใหม่ โดยแม้จะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ในฐานะบริษัทพลังงานที่มีกิจการทั่วโลก เราจึงสามารถนำโครงการ   Rigs-to-Reefs ที่เชฟรอนเคยทำในต่างประเทศมาปรับใช้ในโครงการนี้เพื่อศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการต่อยอดโครงการในประเทศไทย

default

 โครงการดังกล่าวมีการดำเนินการมาแล้ว​ 2​ ปี​ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงเดือนตุลาคม 2565 โดยอ่าวโฉลกหลำบริเวณทางเหนือของเกาะพะงัน ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของโครงการนำร่อง เนื่องจากมีสภาพทางกายภาพที่เหมาะสม ทั้งความอุดมสมบูรณ์สำหรับสัตว์ทะเล ไปจนถึงเส้นทางที่เหมาะสมต่อการขนย้าย และสามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ได้ด้วย

รศ.ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการติดตามโครงการฯ​ ว่า จากการศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิดพบว่าผลสำเร็จของโครงการฯ ออกมาในเชิงบวกทั้งมิติของธรรมชาติ และมิติของมนุษย์ โดยเราพบว่าคุณภาพน้ำทะเลและคุณภาพตะกอนพื้นท้องทะเลในบริเวณกองปะการังเทียมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และพบแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด ส่งผลให้ความหลากหลายของปลาเพิ่มขึ้นจาก 15 ชนิด เป็น 36 ชนิด ซึ่งแม้ความหนาแน่นของประชากรปลาในบริเวณกองปะการังเทียมจะยังไม่เทียบเท่าแนวปะการังธรรมชาติ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือมวลชีวภาพของปลาในด้านขนาดและน้ำหนักจะมีมากกว่า โดยปลาที่สำรวจพบส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาหางแข็ง ปลากล้วย ปลาข้างเหลือง และยังพบปลาที่เคยหายไปจากพื้นที่ได้กลับเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ปะการังเทียม นอกจากนี้เรายังพบการปกคลุมของสิ่งมีชีวิตเกาะติด โดยมีปะการังดำเป็นกลุ่มเด่นอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าแนวปะการังธรรมชาติ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของชาวประมงในพื้นที่ในอนาคต

คำนึง สิงหนาท ชาวประมงในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำ

ในขณะที่มุมมองของ​นายคำนึง สิงหนาท ชาวประมงในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำ​ กล่าวว่า​ ​เห็นถึงความแตกต่างระหว่างก่อนมีแท่นกับหลังทำโครงการฯ อย่างชัดเจน ซึ่งจากอาชีพหลักของเราที่เป็นชาวประมงอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เราไม่ต้องออกไปจับปลาไกลเกินไป และมีกลุ่มปลาเศรษฐกิจอยู่เยอะขึ้น ซึ่งปลาบางชนิดที่แต่ก่อนไม่เคยมีก็เริ่มมีเข้ามามากขึ้น

Advertisment