อบก. เปิดตัว แพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization Platform: CFO Platform) เพื่อส่งเสริมให้องค์กรจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับองค์กร ได้สะดวกขึ้น สอดรับกับเป้าหมายประเทศที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2065
ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวง ทส.โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้พัฒนาการรายงาน CFO ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับไปสู่ การรับรอง Net Zero ในระดับองค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรภาคธุรกิจ สามารถบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและต่อเนื่อง โดย ภาคเอกชน ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญของกลไกการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ในอนาคต
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ในการประชุม COP 26 ประเทศไทย ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality )ในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ( Net Zero Emissions ) ในปี 2065 ทำให้ ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการต่างมุ่งสู่การผลิตและการบริโภคแบบคาร์บอนต่ำ ดังนั้น ภาคการผลิตและบริการของไทย จึงต้องเร่งปรับตัวเตรียมความพร้อม โดย CFO Platform จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ธุรกิจเรียนรู้และประเมินตนเองได้ในการปรับลดการปล่อยคาร์บอนในองค์กร เพื่อมุ่งสู่มาตรฐานและการได้รับการยอมรับในระดับสากล
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์กรที่มีการประเมินและผ่านการรับรองจาก อบก. แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,033 องค์กร แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย Net Zero ตลอดจนสามารถใช้ข้อมูล CFO รายงานต่อสาธารณะ อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประเมิน CFO ได้สะดวกยิ่งขึ้น อบก. จึงได้พัฒนารูปแบบการประเมินให้อยู่ในรูปแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ “CFO Platform” ขึ้น โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือประเมิน CFO ตามมาตรฐานที่กำหนดได้ถูกต้อง สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งรองรับระบบการรับรอง Net Zero ที่ อบก. ได้พัฒนาขึ้นใหม่ อบก. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า CFO Platform นี้ จะสามารถช่วยลดภาระในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ Net Zero และใช้ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้แก่ผู้ประกอบการไทยต่อไป
นายพิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวว่ากระแสโลกเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่สำคัญมากและทุกคนต้องลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยกันโดยเฉพาะภาคธุรกิจ เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ตลอดสายโซ่อุปทาน โดยต้องมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของตัวเองให้ได้ก่อน เช่น เปลี่ยนมาใช้การขนส่งคาร์บอนต่ำ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า การใช้บรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคิด ทำ ใช้ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริหารจัดการขยะ ตลอดจนการลงทุนในธรุกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
สำหรับประเด็นที่ฝากถึงภาครัฐ ในอนาคตอันใกล้ควรผลักดันให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ COP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแสดงผลงานความสำเร็จในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย สู่สายตาชาวโลกว่าคนไทยทำได้และทำได้อย่างดี บนมาตรฐานที่โลกต้องยอมรับ
นายนที สิทธิประศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในส่วนของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทางสถาบันฯ จะให้บริการภาคเอกชนในการเป็นหน่วยงานสอบทวนการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระดับองค์กร และระดับผลิตภัณฑ์ โดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมเพื่อบริการให้กับสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากปัจจุบันที่ยังมีหน่วยงานสอบทวนจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการในการใช้บริการ
นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังวางแผนในการให้บริการการสอบทวนครอบคลุมมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการสอบทวนของทาง EU สำหรับ “CFO Platform” ที่เปิดตัวในวันนี้ ถือเป็นการยกระดับในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้เอกชนรายงานได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยกันคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดด้วยตนเอง โดยอาจเริ่มต้นจาก Low Technology ซึ่งค่าใช้จ่ายยังไม่สูง จากนั้นจะมีการเสริมด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต หรือการชดเชยคาร์บอน สำหรับในภาพรวมของประเทศนั้นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการปรับอัตราส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ควรเพิ่มให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยใช้พลังงานสะอาดได้เร็วขึ้น
สำหรับการจัดงานเปิดตัว CFO Platform ครั้งนี้ เป็นการจัดงานในรูปแบบ “Carbon Neutral Event” คือมีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานจำนวน 5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเท่ากับปริมาณการปล่อยทั้งหมด โดย Central Group และสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนให้เกิดการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER เพื่อให้งานเปิดตัว CFO Platform ในวันนี้ ได้รับการรับรองเป็น Carbon Neutral Event จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ต่อไป