ย้อนถอยหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นสาขาดาวรุ่ง อยู่ในช่วงพีค ติด 1 ใน 5 อันดับแรกในสาขาวิชาเอก ที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์แข่งกันเลือกเรียน เพราะการันตีการมีงานทำ ถูกจองตัวจากบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เงินเดือนสูง ซึ่งในแง่ของวงการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนั้นถือว่าได้บุคลากรที่มีคุณภาพ เทียบเท่าต่างชาติ มารวมตัวกัน ด้วยคนเก่งระดับหัวกะทิในคณะ 30 คนแรก ในจำนวนนิสิตหลายร้อยคนนั้น มารวมตัวกันอยู่ในสาขาวิชานี้ถึง 20 คน เต็มตามจำนวนที่เปิดรับในแต่ละรุ่น
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป เส้นกราฟความนิยมของสาขาวิชานี้ เริ่มดิ่งหัวลงต่ำจากจุดพีคมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นสาขาวิชาที่ถูกเลือกเรียนอันดับท้ายๆ เช่นเดียวกับเส้นกราฟปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ที่เคยขึ้นไปถึงจุดพีค แล้วดิ่งลงตามปริมาณสำรองที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆเพราะยังไม่มีปริมาณปิโตรเลียมจากแหล่งใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ในขณะที่มองไปข้างหน้าในอนาคต กระแสโลกกำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่ลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งปล่อยคาร์บอน หันไปส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดทางเลือกอื่นๆ จึงเกิดคำถามถึงการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมของไทยในยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน ว่ายังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ? นิสิตที่เข้ามาเรียนสาขานี้ จบออกมาแล้วจะไปทำงานอะไร? อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย จะยังมีศักยภาพไปได้อีกกี่ปี รวมทั้งคำถามถึงข้อเสนอของสถาบันการศึกษาต่อนโยบายภาครัฐว่าควรจะต้องเดินหน้าอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ?
ประเด็นข้อสงสัยต่างๆ เหล่านี้ มีคำตอบจาก รศ.ดร.จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในบุคลากรที่เรียนจบมาในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ซึ่งทาง ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) มีโอกาสได้สัมภาษณ์ เมื่อเร็วๆ นี้
ประเทศไทยยังมีศักยภาพด้านปิโตรเลียม
รศ.ดร.จิรวัฒน์ อธิบายถึงความสำคัญของการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม โดยฉายภาพกว้างให้เห็นก่อนว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) แน่นอนว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างถ่านหิน และน้ำมัน จะถูกลดบทบาทลง โดยเชื่อว่า ก๊าซธรรมชาติ จะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังมีความสำคัญเพราะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าถ่านหินและน้ำมัน และยังมีราคาที่ถูกกว่าพลังงานสะอาดที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ซึ่งเมื่อหันกลับมามองศักยภาพด้านปิโตรเลียมของไทย รศ.ดร.จิรวัฒน์ มองว่า ในแหล่งปิโตรเลียมที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน น่าจะยังสามารถรักษาระดับการผลิตให้คงที่ไปได้อีกประมาณ 10-20 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนในนโยบายการต่ออายุสัมปทานให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม
นอกจากนี้ ในพื้นที่อ่าวไทยที่รัฐเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบที่ 24 ก็มีข้อมูลอัปเดตว่า เอกชนบางรายที่ได้สิทธินั้น มีการสำรวจพบปิโตรเลียมแล้วและกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์
สำหรับพื้นที่ปิโตรเลียมในแหล่งใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้เปิดให้เข้าไปสำรวจมาก่อน หรือเคยให้สัมปทานไปนานมากแล้ว เช่น พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันนั้น รศ.ดร.จิรวัฒน์ มองว่าด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจที่ทันสมัยมากขึ้น และมุมมองการแปรผลข้อมูลที่แตกต่างไปจากในอดีต เห็นว่าแหล่งปิโตรเลียมในฝั่งทะเลอันดามันนั้น เป็นพื้นที่มีศักยภาพ โดยพิจารณาจากพื้นที่ปิโตรเลียมใกล้เคียงที่อยู่ทางด้านใต้ทะเลอันดามันของไทย เหนือเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ก็มีการสำรวจพบและผลิตปิโตรเลียมแล้ว ในขณะที่ขึ้นไปทางด้านเหนือ อ่าวเมาะตะมะ ของเมียนมา ก็มีการสำรวจพบและผลิตปิโตรเลียมแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ในส่วนฝั่งทะเลอันดามันของไทย หากสำรวจพบปิโตรเลียมแล้ว จะมีปริมาณมากพอที่จะคุ้มค่าในการลงทุนหรือใหม่ เพราะต้องมีการลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับการนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วย
ปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ต้องใช้ประโยชน์ในจังหวะที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน
อีกพื้นที่ปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงคือพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือ OCA ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีการผลิตปิโตรเลียมของไทยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การที่จะนำปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้ประโยชน์ ต้องมีระยะเวลาที่รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องเจรจากันให้ได้ข้อยุติร่วมกันให้ได้ จากนั้นก็ต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งในการจัดทำธรรมนูญร่วมกันเพื่อเข้าไปบริหารจัดการผลประโยชน์ ต้องมีระยะเวลาในการออกประกาศเชิญชวน การเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูล หากสำรวจพบก็ต้องประเมินศักยภาพ ขนาดการลงทุน การเตรียมแผนการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องพิจารณาสำหรับพื้นที่ OCA คือความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานทั้ง แท่นผลิต ระบบท่อส่งก๊าซ ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ผลิตเดิมในอ่าวไทยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมต่ำลง

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า ปิโตรเลียมที่เชื่อว่ามีศักยภาพในพื้นที่ OCA ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบนำขึ้นมาใช้ เพราะปริมาณจะยังอยู่เท่าเดิม ไม่ได้สูญหายไปไหน รศ.ดร.จิรวัฒน์ อธิบายโดยให้เหตุผลว่า ปริมาณปิโตรเลียมที่มีในพื้นที่ OCA ไม่ได้หายไปไหนก็จริง แต่ถ้าเราไม่นำมาใช้ประโยชน์ เราจะมีกำลังซื้อพลังงานจากต่างประเทศมาทดแทนหรือไม่ ซึ่งการนำเข้าพลังงานนั้น ทำให้ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ จึงเป็นความลำบากของคนที่อยู่ “ถ้าปัจจุบันเราเอาตัวไม่รอด เราจะไปมองเห็นอะไรในอนาคต”
“ในอีก 40-50 ปีข้างหน้า รูปแบบการใช้พลังงานจะถูกพัฒนาไปถึงไหนแล้ว หากตอนนั้นไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติแล้ว และก๊าซธรรมชาติของเรายังเหลือที่เดิมตรงนั้น คิดว่ามันจะยังมีมูลค่าที่คุ้มพอจะเอาขึ้นมาใช้ประโยชน์อยู่หรือไม่” รศ.ดร.จิรวัฒน์ ชวนให้คิดตาม พร้อมอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า เราจะไม่สามารถเก็บรักษาโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตและนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ใช้งาน เพราะจะเป็นภาระ มีค่าใช้จ่ายในบำรุงรักษา ซึ่งอุปกรณ์อะไรที่ไม่ใช้ประโยชน์ ก็จะเสื่อมสภาพไป และเกิดความไม่มั่นใจว่าจะใช้งานได้อีก ดังนั้นการที่ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานกันใหม่ทั้งหมดจะกลายเป็นต้นทุนที่สูงมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ไม่ได้มีแค่มิติเรื่องการใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคพลังงาน แต่ยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ช่วยให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก รัฐจึงควรต้องมองปิโตรเลียมในหลายมิติ
นโยบายด้านปิโตรเลียมของภาครัฐที่ชัดเจน ช่วยเอื้อต่อการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ
หันกลับมามองในการผลิตบุคลากรในภาคการศึกษา รศ.ดร.จิรวัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า หากนโยบายภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เพราะไทยยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพ และปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศนั้นสร้างประโยชน์ในกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ก็จะช่วยให้ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม กลับมาเป็นที่สนใจของนิสิต และผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างชาติ เพื่อรองรับความต้องการ ตอบโจทย์ทั้งการขยายการลงทุนของบริษัทด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วงที่การผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมอยู่ในช่วงถดถอย รศ.ดร.จิรวัฒน์ บอกว่าทางภาควิชาก็ยังรับนิสิตอยู่ที่จำนวน 10 คนในแต่ละปี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มาก และถือเป็นความโชคดีที่ในช่วงขาลง ทางภาควิชาได้อาจารย์ที่เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมและมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก ตรงตามคุณสมบัติที่มหาวิทยาลัยกำหนดเข้ามาช่วยสอน โดยความหวังของภาควิชาต้องการยกระดับคุณภาพของนิสิตให้มีความมั่นใจว่า จบจากสาขานี้ออกไปสามารถยื่นใบสมัครบริษัทด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ใดก็ได้ในโลก แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ถึงขั้นนั้นก็ตาม เพราะทักษะเรื่องภาษาอังกฤษยังไม่ดีพอ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบัณฑิตที่จบออกไป หากพลาดการเข้าไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ ก็จะสามารถประยุกต์สิ่งที่เรียนมาให้เข้ากับองค์ความรู้ใหม่ ที่เชื่อมโยงกับสาขาที่เรียนมาได้ ซึ่งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์กำลังมีการปรับปรุงหลักสูตรรองรับ จึงเชื่อว่าด้วยจำนวนนิสิตที่ไม่มากและมีอาจารย์ในภาควิชาดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด นิสิตที่ลงเรียนหลักสูตรวิศวกรรมปิโตรเลียม จะยังมีอนาคตที่ดีในการทำงาน โดยหากมหาวิทยาลัย หยุดการผลิตบุคลากรทางด้านนี้เพื่อรอให้นโยบายด้านปิโตรเลียมของภาครัฐมีความชัดเจน เราจะเหมือนถอยหลังกลับไปสู่ยุคแรกที่ยังไม่เคยมีบุคลากรสาขานี้มาก่อน โดยมองว่าการสร้างบุคลากรให้มีคุณภาพที่พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน.