อดีตผู้บริหาร กฟผ. กดดันรัฐบาลเร่งแต่งตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ขึ้นเป็นผู้ว่า กฟผ. คนใหม่โดยเร็ว

741
- Advertisment-

อดีตผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคประชาชน ออกแถลงการณ์เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งเสนอ “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ขึ้นเป็นผู้ว่า กฟผ. คนใหม่โดยเร็ว พร้อมให้คงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ไว้  51%  

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566  ผู้แทนกลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และภาคประชาชนนำโดยนายพิเชษฐ์ ชูชื่น อดีตผู้บริหาร กฟผ.,นายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ.(สร.กฟผ.) และนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 และการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ประชาชนเดือดร้อน

นายพิเชษฐ์ ชูชื่น อดีตผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ และบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ทางกลุ่มเตรียมที่จะยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อให้เร่งพิจารณาใน 4 ข้อ  ได้แก่

- Advertisment -

1. ขอให้เร่งพิจารณาแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ (คนที่16) ที่ดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรมผ่านคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการ กฟผ. คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ที่ถูกเสนอไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขณะนั้นคือนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ แต่ต่อมามีการยุบสภาไปเสียก่อนทำให้รัฐบาลรักษาการดำเนินการต่อไม่ได้ จึงได้มีการนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กลต.) แล้ว แต่ทาง กลต.ยืนยันว่าจะต้องเสนอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นเรื่องนี้จึงอยู่ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่จะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ใหม่ได้ เพราะเป็นการสรรหามาโดยชอบธรรมแล้ว

 2. ขอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาการยกเลิกค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments : AP ของโรงไฟฟ้าเอกชนที่ปัจจุบันแม้จะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ต้องจ่าย ทำให้ภาระดังกล่าวไปตกอยู่กับประชาชนที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น 

3. รัฐบาลควรพิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ไม่ควรต่ำกว่า 51% เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 4. ขอให้พิจารณาทบทวนแผนการกำหนดให้แยก ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ที่มีบทบาทหน้าที่ มีอำนาจควบคุมด้านความมั่นคงและความเป็นธรรมในระบบไฟฟ้าของประเทศ ออกจาก กฟผ. เพราะถือเป็นเรื่องอันตรายหากแยกออกไปแล้วเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน เนื่องจาก กฟผ. ไม่ได้เป็นกิจการที่มุ่งแสวงหาผลกำไร

นายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ.(สร.กฟผ.) กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.ได้ใช้เวลาล่วงเลยมา 4 เดือนแล้ว ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัตศาสตร์จึงมีการมองได้ว่า นี่อาจจะเป็นการแทรกแซงจากกลุ่มทุนหรือไม่ ทำให้ กฟผ. เองขาดผู้บริหารรวมถึงระดับผู้อำนวยการฝ่าย จึงต้องการให้มีการนำเสนอ ครม. พิจารณา โดยเร็ว ซึ่งประเด็นนี้ทาง สร.กฟผ.ปัจจุบันกำลังติดตามอยู่หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้องก็พร้อมจะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่

สำหรับในเรื่องค่าไฟฟ้าแพงนั้น ในความเป็นจริงต้นกำเนิดเกิดมาจากในอดีตภาครัฐและกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไปโดยขาดการสร้างความสมดุลด้าน Demand และ Supply จะเห็นได้จากปัจจุบัน Supply มีมากกว่า Demand เกินครึ่งหนึ่ง ซ้ำยังกำหนดให้ กฟผ. ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อมและอื่นๆ ตลอดจนปล่อยปละละเลยกำหนดนโยบายให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไป โดยอ้างปัญหาโลกร้อนและไปลงนามสัญญาร่วมกับประเทศต่างๆ โดยไม่ดูข้อจำกัดต่าง ๆ ภายในประเทศเหล่านี้ระยะต่อไปจึงจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหา

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  ที่ผ่านมาประชาชนได้ร้องเรียนถึงผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่แพงจนเดือดร้อน และแม้ว่ารัฐบาลใหม่ได้ประกาศลดค่าไฟฟ้าลงในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ถือเป็นเรื่องดีแต่ต้องแก้ไขให้ยั่งยืนโดยจะต้องปรับโครงสร้างพลังงานอื่นๆ เช่น ค่า AP การเปิดเสรีนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานว่า สำหรับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ที่ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กโก้กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กฟผ. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566 ก่อนที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะประกาศยุบสภา ในวันที่ 20 มี.ค. 2566 นั้น

หาก นายพีระพันธุ์ ต้องการที่จะแต่งตั้งให้ นายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ ก็สามารถที่จะนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ ได้ทันที แต่หากต้องการที่จะแต่งตั้งบุคคลอื่น ก็จะต้องให้บอร์ด กฟผ. นำเสนอชื่อแคนดิเดท ผู้ว่าการ กฟผ. ที่มีคะแนนรองลงมา ให้พิจารณา หรือยกเลิกกระบวนการสรรหาเดิม แล้วเริ่มต้นกระบวนการสรรหากันใหม่ ซึ่งจะทำให้ นายเทพรัตน์ ขาดคุณสมบัติ ที่จะเข้ารับการสรรหาอีกครั้งเนื่องจาก นายเทพรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2508 จึงมีอายุเกิน 58 ปี ในวันที่ยื่นใบสมัคร

ความล่าช้าในการแต่งตั้งตำแหน่ง ผู้ว่าการ กฟผ. ยังมีผลทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้บริหารในระดับรองผู้ว่าการ อีก 5 ตำแหน่งที่จะมาแทนคนที่จะเกษียณอายุด้วย ประกอบด้วยตำแหน่ง รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงาน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รองผู้ว่าการบริหาร และ รองผู้ว่าการระบบส่ง 

Advertisment