อดีตปลัดพลังงาน แจงกระทรวงพลังงานปรับสูตรคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ผิดหลักการ ระบุนำราคาก๊าซฯ จากเมียนมา และ LNG มาบวกรวมให้ภาคปิโตรเคมี เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เหตุองค์ประกอบก๊าซฯ ไม่เหมือนของอ่าวไทยและภาคปิโตรเคมีไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่ต้องมาร่วมแบกราคา ดันต้นทุนพุ่ง 30-40% ชี้จะกระทบอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งระบบเร็วๆนี้ แนะกลับไปใช้สูตรคำนวณเดิมถูกต้องแล้ว
จากกรณีกระทรวงพลังงานปรับสูตรการคำนวนราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซฯ จากเมียนมาและก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง ขณะเดียวกันภาคปิโตรเคมีต้องใช้ก๊าซฯ ราคาที่สูงขึ้น
นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับสูตรราคา Pool Gas ของกระทรวงพลังงาน จะส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งระบบ เนื่องจากทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีต้นทางสูงขึ้น 30-40% และปลายทางของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาจมีราคาสูงขึ้น 100% จนไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ทั้งนี้การกำหนดนโยบายดังกล่าวถือว่าผิดหลักการไปมาก โดยประการแรก การทำอีเทน และโพรเพน ป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะต้องใช้ก๊าซเปียก ซึ่งมีองค์ประกอบของสารคือ C2-C3-C4 มาผลิต แต่การคำนวนราคาก๊าซฯ ใน Pool Gas ใหม่ มีการนำก๊าซ LNG และก๊าซฯจากเมียนมา (ซึ่งมีสารมีเทน ที่เป็น C1 อยู่ ) มาคิดเป็นราคาก๊าซให้กับภาคปิโตรเคมีด้วยนั้น เป็นการนำสิ่งที่ภาคปิโตรเคมีไม่ได้ใช้ (คือ C1) ไปให้ร่วมแบกราคาต้นทุนด้วย ถือว่าผิดหลักการไปมาก ไม่ว่าราคาก๊าซฯ จะถูกหรือแพงก็ไม่ควรนำก๊าซฯ นี้มาบวกราคาให้ฝั่งปิโตรเคมี
และอีกประการคือ กฎหมายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้อำนาจ กกพ.กำหนดอัตราขนส่งก๊าซฯ ที่ใช้เกี่ยวกับเรื่องพลังงานเท่านั้น แต่การมอบนโยบายให้ กกพ. ไปคำนวณราคา Pool Gas ใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซฯ ที่เป็นวัตถุดิบ ถือเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย
และที่สำคัญการปรับสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ใหม่ของกระทรวงพลังงานดังกล่าว ยังเป็นการทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศชาติ ที่ไทยก่อสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมา 39 ปีแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบโดยเร็วต่อต้นทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งระบบ อาทิ พลาสติก สิ่งทอ และอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น
ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทั้งตัวเอง และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล พร้อมด้วย นายณรงค์ชัย อัครเศรณี มีความเป็นห่วงประเทศชาติ จึงต้องการให้รัฐบาลพิจารณาถึงแนวทางการกลับมาใช้สูตรการคำนวนราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เหมือนเดิม (คือ ให้ก๊าซฯ จากอ่าวไทย (อ่าวไทยตอนบนและตอนล่าง) ที่ส่งเข้าไปเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีใช้ราคาก๊าซฯ อ่าวไทย ส่วนก๊าซฯ ที่นำไปผลิตเป็นไฟฟ้าก็เป็นราคา Pool Gas ที่รวมทั้งราคาก๊าซอ่าวไทย, ก๊าซฯเมียนมา และ LNG ตามเดิมต่อไป)
“เปรียบเทียบกับกฎหมายสรรพสามิตเรื่องสุรา เอทานอลที่ไปผลิตเป็นสุราก็คิดภาษีเป็นขวด แต่เอทานอลที่เอามาทำแอลกอฮอล์ ก็คิดภาษีอีกแบบ วัตถุประสงค์การใช้ที่ต่างกัน ก็คิดคนละแบบกัน”