องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการเจรจาที่ รัฐบาลเศรษฐา ควรใช้เป็นต้นแบบในการเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา

1003
- Advertisment-

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บรรจุเรื่องการเร่งเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ( Overlapping Claims Area – OCA ) ระหว่าง ไทย-กัมพูชา เอาไว้ในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งการผลักดันให้นโยบายประสบความสำเร็จ มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลต้องนำโมเดลองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย มาเป็นต้นแบบ

กรณีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนของไทยกับมาเลเซีย เริ่มเปิดการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลครั้งแรกในปี 2515 ซึ่งนับจนถึงวันที่สามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้จริงเมื่อปี 2548 ก็ใช้เวลา 33 ปี โดยประเด็นที่ทำให้ต้องเสียเวลาไปมากในช่วงเริ่มต้นของการเจรจา คือการถกเถียงกันเรื่องของการแบ่งเขตแดนที่ไม่ได้ข้อยุติ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการเจรจา มาเน้นเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันจนสามารถบรรลุความตกลงในบันทึกความเข้าใจ หลังการประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ของไทยและนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ ของมาเลเซีย ที่เชียงใหม่ช่วงระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2522

สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจในตอนนั้นประกอบด้วย

- Advertisment -

– กำหนดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน พร้อมทั้งแผนที่แนบท้าย

– คู่ภาคีจะแก้ไขปัญหาเรื่องการแบ่งเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย โดยการเจรจาและโดยสันติวิธีอื่นๆ

– ให้มีการจัดตั้งองค์กรร่วมในชื่อว่า องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเวลา 50 ปี ค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่ได้จากองค์กรร่วมนี้จะแบ่งปันโดยเท่าเทียมกัน

– ทั้งสองฝ่ายยังคงมีสิทธิในการประมง การเดินเรือ การสำรวจทางอุทกศาสตร์และสมุทรศาสตร์ต่อไป

– ถ้าสามารถหาข้อยุติเรื่องการแบ่งเขตไหล่ทวีปได้ภายใน 50 ปี ให้ยุบองค์กรร่วมนี้ แต่ถ้าเกิน 50 ปีแล้วยังไม่สามารถหาข้อยุติที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย ให้ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ต่อไป

หลังจากทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ทั้งไทยและมาเลเซียใช้เวลาอีก 12 ปีเต็ม ในการเจรจาจนบรรลุข้อตกลงเรื่องธรรมนูญขององค์กรร่วมให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มกราคม 2534 โดยธรรมนูญดังกล่าวได้กำหนดอำนาจหน้าที่ โครงสร้างขององค์กรร่วม โดยความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องของสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ( Chief Executive Officer – CEO ) ซึ่งในที่สุดก็ได้ข้อยุติร่วมกันว่า ให้สำนักงานใหญ่ไปตั้งที่กัวลาลัมเปอร์ แต่ ซีอีโอคนแรกเป็นคนไทย ซึ่งผู้รับตำแหน่งซีอีโอคนแรกคือ คุณจารุอุดม เรืองสุวรรณ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ขณะนั้น

จากนั้นมีการจัดตั้ง บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) และ ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศมาเลเซีย) ขึ้นพร้อมกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 เพื่อบริหารจัดการและดำเนินงานโครงการท่อส่งก๊าซและโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โดย ปตท. และ ปิโตรนาส ถือหุ้นฝั่งละ 50% ในส่วนของงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น ฝ่ายไทยมี ปตท.สผ. ส่วนมาเลเซียมี ปิโตรนาส ทำการสำรวจแปลง B-17 และ C-19  ซึ่งสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2548 ซึ่งปัจจุบันก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA  มีส่วนเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับทั้งสองประเทศที่แบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรที่ได้กันคนละครึ่ง

แท่นผลิตก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ที่ส่งก๊าซป้อนความต้องการของทั้งไทยและมาเลเซีย

หันมาดูกรณีของพี้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ขนาดพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร เริ่มเจรจากันครั้งแรกในปี 2513 และมีเอ็มโอยูร่วมกันในปี 2544 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ณ ขณะนั้น กับ ซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เป็นผู้ลงนามร่วมกัน มีสาระสำคัญ โดยสรุปได้ว่า ให้มีการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน และการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการแบ่งเขตพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล โดยทั้งการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันนั้น จะต้องดำเนินการทำข้อตกลงรวมไปด้วยกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ ( Indivisible package ) และให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee – JTC ) ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจา

พื้นที่่ Overlapping Claims Area – (OCA)  ระหว่าง ไทย-กัมพูชา ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่ยังไม่ได้ข้อยุตินับตั้งแต่เริ่มเจรจาเมื่อปี 2513 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับกลไกในการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ภายใต้ JTC ไทย-กัมพูชา จะมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค  ( Sub-JTC ) ฝ่ายไทย ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีคณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นหัวหน้าคณะ และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม (ฝ่ายไทย) มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ

โดยสถานะการเจรจานับตั้งแต่ที่ลงนามใน MOU 2544 คณะกรรมการร่วม JTC มีการจัดประชุมไป 2 ครั้ง  การหารืออย่างไม่เป็นทางการของประธาน JTC ฝ่ายไทยและกัมพูชา 4 ครั้ง Sub-JTC มีการประชุม 2 ครั้ง

การประชุมคณะทำงานชุดที่มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ เป็นหัวหน้าคณะ 1 ครั้ง และชุดที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ ประชุม 6 ครั้ง

ทั้งนี้กลไกในการเจรจาที่ไม่มีความก้าวหน้า เพราะมีเรื่องของเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลเข้ามาเกี่ยวข้อง  เช่นเดียวกับกรณีที่ไทยและมาเลเซียเคยเจรจามาแล้วและไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องปรับแนวทางการเจรจากันใหม่

ทั้งนี้แนวทางการตั้งองค์กรร่วมกันของทั้งสองประเทศ เช่นเดียวกับกรณีของไทยกับมาเลเซีย เพื่อเป็นทางออกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเจรจานั้น ถูกเสนอโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เห็นว่า ทั้งไทยและกัมพูชาจะต้องเดินหน้าเจรจาเฉพาะแนวทางการเข้าไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงานเท่านั้น ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน โดยหากนำเรื่องเขตแดนไปผูกติดกับเรื่องการใช้ประโยชน์จากพลังงานที่อยู่ใต้ดิน การเจรจาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“การหยิบเรื่องเส้นเขตแดนขึ้นมาเจรจากันจะไม่มีวันจบ เพราะมันไม่มีประเทศไหนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนได้ แล้วเราก็โต้แย้งกันลำบาก เพราะแนวเขตแดนของเรากับที่เขาอ้างอิง มันถูกกฎหมายด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่เป็นกฎหมายที่เกิดคนละช่วงเวลา มันจึงไม่สามารถบอกกันได้เด็ดขาดว่าใครถูกหรือใครผิด ดังนั้นเมื่อยังบอกไม่ได้ว่าใครถูกใครผิด แล้วเราเอาเรื่องของการแบ่งเขตแดนมาเกี่ยวข้องกับการเจรจาเรื่องพลังงานที่อยู่ใต้ดิน มันจึงไม่มีทางจะคุยกันได้” คุณพีระพันธุ์ กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566

การนำโมเดลองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน มาใช้กับกรณี OCA ไทย-กัมพูชา รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จึงต้องให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้นำในการเจรจา เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรร่วมกัน โดยลดบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศลง เพราะไม่มีประเด็นที่ต้องเกี่ยวข้องกับเส้นแบ่งเขตแดน จึงมีความหวังว่า คุณเศรษฐาจะมอบงานสำคัญนี้ให้คุณพีระพันธุ์ เป็นผู้ถือธงนำการเจรจาในเรื่องนี้ โดยมองถึงประโยชน์ในภาพรวมของประเทศเป็นตัวตั้ง และเดินตามแนวทางที่รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ พลเอกเปรม และพลเอกชาติชาย เคยวางแนวไว้ให้เป็นตัวอย่างในการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

Advertisment