ห่วงค่าไฟฟ้าปีหน้า

971
- Advertisment-

เพิ่งจะได้ต่อลมหายใจ เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน-ธันวาคมนี้ เหลือเฉลี่ย 3.99 บาทต่อหน่วย แต่พอมาติดตามสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกแล้ว ก็ต้องบอกว่าใจหาย เพราะสงครามในพื้นที่ฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเริ่มส่อเค้าความรุนแรง หลังอิสราเอลปูพรมบุกพื้นที่ฉนวนกาซา ประจวบเหมาะกับเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของฝั่งตะวันตก ซึ่งมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในระดับสูง ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกกับราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจรหรือ Spot LNG ที่ผันผวนอยู่แล้ว ก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิอย่างประเทศไทยโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า

แม้ว่าสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจรหรือ Spot LNG จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส แต่ราคาก็มีการปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว โดยราคาได้ปรับลดลงจากระดับ 29 ดอลลาร์สหรัฐ /ล้านบีทียู ในช่วงเดือนมกราคม 2566 มาอยู่ในระดับ 10-11 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ล้านบีทียูในช่วงกลางปี หลังจากนั้นก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 13-14 ดอลลาร์สหรัฐ /ล้านบีทียูในช่วงต้นเดือน กันยายน หลังเหตุการณ์สงคราม ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 18.4 ดอลลาร์สหรัฐ /ล้านบีทียู ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 และแนวโน้มน่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 19-20 ดอลลาร์สหรัฐ /ล้านบีทียูในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเอฟที ประจำงวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดล่วงหน้าโดยได้ประมาณการไว้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ราคา Spot LNG อยู่ที่ 14 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/ล้านบีทียู ราคา Pool Gas
อยู่ที่ 346.48 บาท/ล้านบีทียู อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเอฟทีที่สะท้อนต้นทุนอยู่ที่ 66.89 สตางค์/หน่วย (รวมใช้หนี้ กฟผ. 38.31 สตางค์แล้ว) ค่าไฟฟ้ารวม 4.45 บาท/หน่วย ผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ราคา Spot LNG ปรับตัวสูงขึ้นระดับ 18-19 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ล้านบีทียู อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 36-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ราคา Pool Gas สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ค่าเอฟทีงวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 ปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่ได้ประมาณการไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

- Advertisment -

โดยอัตราค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาท ที่ทาง กกพ. ประกาศไปนั้นเป็นการคำนวณตามต้นทุนที่แท้จริง ต่อมาเพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพ และภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับลดลงมาเหลือ 3.99 บาท/หน่วย โดยให้ ปตท. และ กฟผ. รับภาระส่วนต่างไปก่อน ซึ่งการปรับลดราคาดังกล่าวเป็นผลให้เกิดส่วนต่างอยู่ที่ 46 สตางค์/หน่วย ทำให้ กฟผ. ที่สมควรจะได้รับชำระหนี้ที่ติดไว้ 38.31 สตางค์/หน่วยก็ไม่ได้รับคืน ส่วนอีก 7.69 สตางค์/หน่วยนั้นให้ ปตท. ร่วมรับภาระคิดเป็นวงเงินประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติส่วนต่างจาก 346.48 บาท/ล้านบีทียู ลงเหลือ 304.79 บาทต่อล้านบีทียู

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปจากที่ทาง กกพ. ได้ประมาณการค่าเอฟทีไว้เมื่อเดือนสิงหาคม ทั้งจากราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว Spot LNG ได้ปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทได้อ่อนตัวลง รวมทั้งภาระหนี้ของ กฟผ. จำนวน 138,485 ล้านบาท ซึ่งเดิมคาดว่าจะได้ทยอยคืนให้แต่ก็ไม่ได้รับคืน แถมยังติดค่าก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. รับไว้ 8,000-9,000 ล้านบาท สมทบกันเข้าไปอีก

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้จะไม่ให้ห่วงยังไงไหว เพราะไม่รู้ว่าค่าไฟฟ้าปีหน้าจะมีทางออกหรือถึงทางตัน แต่ที่แน่ๆ ทุกสายตาน่าจะจับจ้องมาที่ กกพ. ว่าจะบริหารค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ไปทางไหนกัน และรัฐบาลจะยื่นมือมาช่วยอย่างไร เมื่อปัจจัยลบต่างประเดประดังเข้ามาพร้อมกันแบบนี้

Advertisment