- Advertisment-

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำราคาน้ำมัน – ก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ห่วงไทยต้องเสียเงินนำเข้า LNG แพงขึ้นหลักหมื่นถึงแสนล้านบาทต่อปี จากการที่ปริมาณสำรวจก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศลดลงจนถึงขั้นวิกฤติ แนะรัฐเร่งเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนพลังงานระยะยาว

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะนี้ว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์อ่อนไหว ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผันผวน ไม่มีเสถียรภาพและปรับราคาแพงขึ้นมาก ส่งผลต่อต้นทุนพลังงานของประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งกว่านั้นปริมาณการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยที่ลดลงติดต่อกันมาหลายปี จึงทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติในรูปของ LNG เพิ่มมากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ขณะที่ราคาตลาดจรของก๊าซธรรมชาติเหลว (หรือ spot LNG) ก็ปรับตัวแพงขึ้นมาอยู่ที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้า LNG  มากกว่า 10 ล้านตัน/ปี ซึ่ง LNG เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยคาดว่าภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีนับจากนี้ ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) จะต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอนจากผลของราคาก๊าซเฉลี่ยโดยรวมที่แพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ซ้ำเติมปัญหาราคาน้ำมันแพงที่มีอยู่ในขณะนี้ด้วย

- Advertisment -

ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมฯ มองว่า สถานการณ์ด้านพลังงานของไทยในปัจจุบัน มีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ รวมทั้งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (หรือ LNG) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ LNG ซึ่งหากเป็นราคาตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวจะอยู่ที่ราว 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ถ้าเป็นราคา LNG ในตลาดจร (Spot LNG) ราคาขณะนี้จะอยู่ที่ประมาณ 35 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

“ราคา LNG ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากคิดจากราคานำเข้า LNG ที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (เปรียบเทียบกับราคาก๊าซในประเทศเฉลี่ย 7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู) ไทยเราจะต้องเสียเงินแพงขึ้นจากการนำเข้าปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท และหากเราต้องซื้อ Spot LNG ในราคา 35 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เราก็จะต้องเสียเงินนำเข้า LNG แพงขึ้นถึงปีละ 1.6 แสนล้านบาท” (โดยคิดจากปริมาณการจัดหาก๊าซที่ 500 ล้าน ล.บ.ฟุต/วัน) ยิ่งไปกว่านั้น ก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ทุกหน่วยที่นำเข้ามานั้น ประเทศไทยไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้กลับมาในรูปของค่าภาคหลวงหรือภาษีใด ๆ เลย เพราะประเทศผู้ส่งออกต้นทางจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์นั้นไป

ดร.คุรุจิต กล่าวต่อไปว่า เหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับต้นทุนด้านพลังงานที่แพงขึ้น ก็เพราะประเทศไทยไม่ได้มีการเปิดให้เอกชนมาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมค้นหาแหล่งใหม่ ๆ มาตั้งแต่ปี 2550 เป็นระยะเวลานานถึง 15 ปี ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยลดน้อยลงอย่างน่าวิตก จากที่ประเทศไทย เคยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้อีก 16-17 ปี แต่มาถึงวันนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้เหลืออีกเพียงไม่ถึง 7 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤต

สำหรับศักยภาพการค้นพบปิโตรเลียมในประเทศไทย ทั้งบนบกและในอ่าวไทย ยังถือว่ามีศักยภาพพอสมควรในการพบและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม อันจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ถึงแม้จะไม่ได้มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่เหมือนประเทศตะวันออกกลาง ที่สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณมากก็ตาม แต่ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องนำเข้าปิโตรเลียมในราคาแพงได้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งจะมีรายได้ในรูปภาษีและค่าภาคหลวงจากการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ไม่ต้องเสียเงินตราให้กับต่างประเทศในการนำเข้าพลังงานเหมือนทุกวันนี้ จึงอยากให้ประชาชนตระหนักรู้ในปัญหาพลังงานและความสำคัญของการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในระยะยาว

Advertisment