ส.อ.ท. จับมือ กนอ.ชูมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ด้วยตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor นำร่องกับ 16 บริษัทซึ่งเป็นผู้นำในด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยตั้งเป้าภายในปี 2568 ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว 100%
วันนี้ (14 มิ.ย.65) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดพิธีแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. และนายสมชาย หวังวัฒนาพานิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ร่วมในพิธี ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้อง Passion (802) ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โดย มาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสียอุตสาหกรรม หรือ ที่เรียกว่า Eco Factory For Waste Processor จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่รับรีไซเคิล บำบัด และกำจัดกากอุตสาหกรรม ที่ได้การรับรองตราสัญลักษณ์ มาตรฐานดังกล่าวจะมีการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ ถูกต้องตามกฎหมาย คำนึงถึงการประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ซึ่งการประกาศเจตนารมณ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมมาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor ได้รับการตอบรับจากสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่จะขอรับรองมาตรฐานดังกล่าว รวม 16 ราย ดังนี้
- บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) 3-101-1/45สบ สระบุรี
- บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) 3-101-2/44สบ สระบุรี
- บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) 3-101-3/44สบ สระบุรี
- บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด 3-106-33/50สบ สระบุรี
- บริษัท สยามเอ็นไวรอนเมนทอลเทคโนโลยี่ จำกัด ข3-101-1/41รย ระยอง
- บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด 3-106-71/53สบ สระบุรี
- บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) 3-106-31/47สก สระแก้ว
- บริษัท ไพโร เอนเนอร์ยี่ จำกัด 3-106-8/54สบ สระบุรี
- บริษัท ไฟเบอร์ พัฒน์ จำกัด 3-106-30/49สป สมุทรปราการ
- บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด น.106-1/2545-ญบว. พระนครศรีอยุธยา
- บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด น.106-2/2559-ญปค. ชลบุรี
- บริษัท ส.กนกการจัดการสิ่งเเวดล้อม จำกัด 3-106-7/56ชบ ชลบุรี
- บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด 3-106-16/56สบ สระบุรี
- บริษัท ซิมสุลาลัย จำกัด จ3-43(1)-27/50ชบ ชลบุรี
- บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด 3-57(1)-1/37ลป ลำปาง
- บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด 3-57(1)-1/15นศ นครศรีธรรมราช
สำหรับมาตรฐานEco Factory For Waste Processor มีการประกาศใช้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับและส่งเสริมผู้ประกอบการกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรมให้มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยปัจจุบันมีมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอยู่ 2 กลุ่ม คือ Eco Factory สำหรับรับรองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วไป และ Eco Factory For Waste Processor สำหรับรับรองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจัดการของเสีย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2568 ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor 100% และผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน จะต้องได้รับการรับรองมากกว่า 80% ของผู้ประกอบกิจการทั้งหมด
นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีโรงงานรีไซเคิล บำบัด หรือกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และก็มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มาตรฐาน และต้องการลดต้นทุนการดำเนินการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน กลุ่มฯ จึงได้รับความร่วมมือจาก สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยพัฒนามาตรฐานที่จะให้การรับรองตราสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจัดการของเสียกลุ่มนี้มีการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐาน มีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และสอดคล้องตาม BCG Model
ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง กนอ. และ ส.อ.ท.ในการพัฒนามาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor ในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่สำคัญ ในการยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย กนอ. จะดำเนินการส่งเสริมให้ Waste Processor ในนิคมอุตสาหกรรมได้รับรองมาตรฐานนี้ให้ครบ 100% ภายในปี 2568 และจะส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ เลือกใช้บริการบำบัดและกำจัดของเสียจากผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน และที่สำคัญคือการผลักดันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ Waste Processor ที่ได้รับรองมาตรฐานนี้