ส่องฟิลิปปินส์ เพื่อสะท้อนปัญหาขยะไทย อย่าให้สายเกินแก้ 

3350
- Advertisment-

ส่องฟิลิปปินส์ เพื่อสะท้อนปัญหาขยะไทย อย่าให้สายเกินแก้    / โดย ทนงศักดิ์ วงษ์ลา คอลัมนิสต์รับเชิญของ ENC

“ฟิลิปปินส์” (The Philippines) เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีปัญหาเรื่องขยะเรื้อรังหมักหมมมานานกว่า20ปี  ขยะที่เกิดจากชุมชนแออัดต่างๆ ล้นกระจัดกระจายไหลลงสู่ลำคลอง แม่น้ำ จนถึงจุดPain Pointที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไข  เพื่อหวังลบภาพปัญหาขยะล้นเมืองให้ได้    ในขณะที่ปัญหาขยะประเทศไทย ถึงแม้จะยังเดินไปไม่ถึงจุดวิกฤติแบบที่ฟิลิปปินส์ เคยประสบ แต่ถ้ารัฐไม่เข้มงวดเสียตั้งแต่วันนี้ และเอกชนประชาชนไม่ให้ความร่วมมือใส่ใจกับปัญหา เราอาจจะไปถึงจุดที่สายเกินแก้ ย่ำแย่หนักหนากว่าที่ฟิลิปปินส์ก็เป็นได้

ปัจจุบันรัฐบาลของฟิลิปปินส์ จริงจังกับปัญหาขยะถึงขั้นยอมมีข้อพิพาทระหว่างประเทศกับรัฐบาลแคนาดา กรณีเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จากแคนาดา จำนวนนับร้อยตู้ขนขยะ สิ่งปฏิกูลในครัวเรือนต่างๆ เข้ามาในฟิลิปปินส์ จนทางการมะนิลา ต้องยื่นฟ้องศาลและคณะผู้พิพากษามีคำสั่งให้แคนาดา ขนกองขยะเหล่านี้กลับไป  ซึ่งกลายเป็นกระแสในหมู่ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เดินขบวนรณรงค์กดดันให้แคนาดารีบนำขยะออกจากฟิลิปปินส์โดยเร็ว

- Advertisment -

ในมุมการจัดการขยะของภาคประชาสังคม ผมเองได้ดูข่าวเมื่อเร็วๆนี้ ที่หมู่บ้านบานายัน ชานกรุงมะนิลา ซึ่ง เริ่มดำเนินโครงการขยะพลาสติกแลกข้าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน  ออกเกณฑ์ให้ผู้ที่รวบรวมขยะพลาสติกมาได้ 2 กิโลกรัม ไม่ว่าจะเป็นซอง ขวด หรือถุงพลาสติก สามารถนำมาแลกข้าวสารได้ 1 กิโลกรัม โดยขยะพลาสติกที่ทางหมู่บ้านรวบรวมได้ จะส่งต่อให้รัฐบาลนำไปกำจัด หรือรีไซเคิล

โครงการขยะแลกข้าวของ ชุมชนบานายัน

ในฟิลิปปินส์ ข้าว 1 กิโลกรัม มีราคาราว 30-40 เปโซ หรือประมาณ 18-24 บาท ซึ่งถือว่าเป็นของแพงสำหรับประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน หรือที่ระดับรายได้ 241 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,300 บาท ต่อเดือน  ดังนั้นโครงการขยะพลาสติกแลกข้าว จึงมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หมู่บ้านบานายันสามารถรวบรวมขยะพลาสติกได้มากถึง 213 กิโลกรัม นับเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

ปัญหาขยะของฟิลิปปินส์นั้น หนักหนาถึงจุดPain Point มาเมื่อ20ปีที่แล้ว ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น จึงต้องเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด จริงจัง  ซึ่งรัฐบาลไทย ควรศึกษาไว้เป็นกรณีตัวอย่าง

ผมมีโอกาสไปฟิลิปปินส์เมื่อ 17-18 ปีที่แล้ว และเข้าไปซื้อสินค้าในห้างซูเปอร์มาร์เก็ต เมือง Lipa City ตอนนั้นเขาก็ไม่ใส่ถุงพลาสติกให้ แต่ใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาลและกล่องกระดาษ พร้อมมัดเชือกให้แทน แล้ว ผม ซื้อกางเกงยีนส์เขาก็ห่อกระดาษสีน้ำตาลพร้อมเชือกป่านผูกให้ ซึ่งแสดงว่าเขามีนโยบายไม่ใช้ถุงพลาสติก มาเกือบยี่สิบปีแล้ว  แต่ประเทศไทยเพิ่งจะรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกมาเมื่อ 2-3 ปีก่อนนี้เอง

ทนงศักดิ์ วงษ์ลา ผู้เขียนบทความ กับประสบการณ์ตรงในการซื้อสินค้าที่ฟิลิปปินส์

ผมเขียนบทความเรื่องขยะที่ฟิลิปปินส์ เพื่อต้องการสะท้อนให้ภาครัฐของไทยได้เห็น ว่า เราไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ปัญหาขยะ หมักหมมไปสู่จุดวิกฤติแล้วค่อยมาคิดหาทางแก้ ที่อาจจะสายเกินไปจนกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศและลุกลามเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ

อยากเห็นการบริหารจัดการขยะของไทย ไม่ใช่เพียงแค่การกำจัดปลายทาง คือการนำขยะไปฝังกลบ หรือทำพลังงาน แต่ควรเริ่มต้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางคือการคัดแยกขยะ และนำไปจัดการให้ถูกวิธี  โดยเฉพาะขยะจากพลาสติก

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องคัดแยกขยะที่ต้นทาง จนทำให้ปลายทางของการกำจัดคือโรงไฟฟ้าขยะนั้นมีปัญหาไปด้วย  หลายประเทศที่พัฒนาแล้วเขาให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด โรงไฟฟ้าจากขยะจึงทำงานได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และขยะส่วนหนึ่งมีการนำไปรีไซเคิล ให้ขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบ 

ผมขอชื่นชมบรรดาห้างสรรพสินค้าที่ออกมาสนับสนุนการไม่แจกถุงพลาสติกอย่างจริงจัง หรือการรณรงค์ให้คนกินกาแฟนำแก้วไปเอง เพื่อแลกกับส่วนลดราคา เพราะทำให้เราต่างมีความตระหนักที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะพลาสติก ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจกลายเป็นกระแสผลักดันให้การแก้ไขปัญหาขยะในภาพรวมของไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

Advertisment