ส่งสัญญาณ​ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 แนะช่วยกันประหยัดใช้ไฟฟ้า

889
- Advertisment-

กกพ.ส่งสัญญาณ​เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าส่วนของเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 โดยการแบกภาระหนี้ค่าไฟฟ้าของ กฟผ.แทนประชาชนอาจจะสูงเกิน 1 แสนล้านบาทและจะมีปัญหาการขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลยังสั่งให้มีการตรึงค่าเอฟที แนะให้ช่วยกันประหยัด​การใช้​ไฟฟ้า​

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาค่าไฟฟ้า ในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรงวดเดือน ก.ย.-พ.ค.65 ในเดือน มิ.ย.นี้ โดยมีการประเมินต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากการต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือLNGเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทยที่ส่งป้อนโรงไฟฟ้านั้นลดลง ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยเชื้อเพลิงอื่นๆและอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเอฟทีจะต้องปรับขึันอีก 40 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่จะจัดเก็บในบิลค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 จะอยู่ที่ประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย

แนวโน้มค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีปัจจัยสำคัญมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงLNGนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นและใช้ในสัดส่วนที่มากขึ้น ดังนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าจึงควรต้องช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าด้วย

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าว​ศูนย์ข่าว​พลังงาน​(Energy​ News​Center -ENC​)​รายงานว่า การจะปรับขึ้นค่าเอฟทีในอัตราเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กพพ.)​และนโยบายจากกระทรวงพลังงาน โดยหากปรับขึ้นค่าเอฟทีน้อยกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย การแบกภาระค่าเอฟทีของ กฟผ.แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไว้ก่อนจะทะลุเกิน 1 แสนล้านบาทและทำให้ กฟผ.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กฟผ.ช่วยแบกภาระค่าเอฟทีแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.64 เป็นวงเงินประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6 หมื่นล้านบาทในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 65 และเพิ่มเป็น 8.3 หมื่นล้านบาทในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค 65 ซึ่งในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 หาก กกพ.ไม่ปรับขึ้นค่าเอฟทีให้สูงกว่า40 สตางค์ต่อหน่วย ภาระของ กฟผ. จะเพิ่มเป็นประมาณ 1.09 แสนล้านบาท

โดยการแบกภาระหนี้ค่าเอฟทีที่มากเกินไปทำให้ กฟผ.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และ ปตท.ต้องเข้ามาช่วยขยายเวลาจ่ายหนี้ค่าก๊าซเดือน พ.ค.มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาทให้เป็นระยะเวลา 4 เดือน พร้อมยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดอีก 340 ล้านบาทให้ กฟผ.

Advertisment