สู้กระแส Disruption กฟผ. Transform ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับระบบไฟฟ้าของประเทศ

2361
- Advertisment-

กระแสของ Digital Transformation สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรม ปัจจุบันจึงเห็นหลายธุรกิจเริ่ม Transform องค์กรของตัวเองในทุกๆ ด้าน เพื่อไม่ให้ถูก Disrupt หรือหายไปในโลกของการแข่งขัน พร้อมกับยังคงสามารถรักษาเป้าหมายขององค์กรไว้ได้ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมศักยภาพในการดำเนินงาน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงระบบผลิตและส่งไฟฟ้า ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จึงได้ส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลากหลายผลงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศด้วยการคว้ารางวัลจากเวทีประกวดระดับนานาชาติ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กฟผ. ได้จัดแสดงผลงานนวัตกรรมไฟฟ้าบางส่วนขึ้นในงาน EGAT Innovation Showcase 2019 ณ สำนักงานกลาง กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

- Advertisment -

“ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ” รักษาเสถียรภาพไฟฟ้า

ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจที่นำมาจัดแสดง คือ “ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ” ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนเมษายน 2562 ซึ่งคิดค้นโดยฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน กฟผ. เพื่อให้สามารถซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำได้อย่างเต็มที่ โดยไม่กระทบการจ่ายไฟฟ้า โดยแนวความคิดของนวัตกรรมนี้ เกิดขึ้นจากกรณีที่ช่วงหน้าฝน โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว จะผลิตไฟฟ้าได้มากกว่ากำลังผลิตตามสัญญา (Contracted Capacity) เพราะมีน้ำปริมาณมาก หากซื้อไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้เพราะมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ แต่อาจทำให้ความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของระบบส่งไฟฟ้าลดลง จึงได้ออกแบบระบบนี้ขึ้นมาช่วยให้ประมวลผลได้แบบ Real Time ผ่านกล่องควบคุมระบบไฟฟ้าอัจฉริยะที่ติดตั้งอยู่ที่โรงไฟฟ้า

น.ส.สิริกัลยา พัชนี วิศวกรระดับ 6 กองวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า ระบบดังกล่าวเป็นการทำงานอย่างอัจฉริยะของระบบฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ ที่สามารถสั่งการโรงไฟฟ้าและตัดสินใจควบคุมระบบไฟฟ้าแทนคนได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วเพียงชั่วพริบตาใน 30 มิลลิวินาที ซึ่งรวดเร็วกว่าการสั่งการโดยคน เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบส่งกำลังไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงทีโดยอัตโนมัติกรณีที่มีสายส่งขัดข้องในขณะที่โรงไฟฟ้าถูกสั่งการให้เดินเครื่องมากกว่ากำลังผลิตตามสัญญา โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้ติดตั้ง “ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ” เพื่อใช้งานที่โรงไฟฟ้าทั้งในและนอกประเทศจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2  (สปป.ลาว) โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 (สปป.ลาว) โรงไฟฟ้าหงสา (สปป.ลาว) โรงไฟฟ้าจะนะ (จ.สงขลา) โรงไฟฟ้าขนอม 2 (จ.สุราษฎร์ธานี) โรงไฟฟ้าแม่เมาะ (จ.ลำปาง) โรงไฟฟ้าบี แอล ซี พี (จ.ระยอง) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้รวม 2,600 ล้านบาท คิดเป็นพลังงานรวม 3,300 GWh (กิกะวัตต์-ชั่วโมง) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง ทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกลง เนื่องจากสามารถลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในภาพรวมลงได้ประมาณ 0.03 สตางค์ต่อหน่วย ในขณะที่มีต้นทุนการผลิตอุปกรณ์เพียงชุดละ 30,000 บาทเท่านั้น

ด้าน นายรัฐวิชญ์ พุฒิพัฒนาศักดิ์ หัวหน้าแผนกอุปกรณ์ระบบควบคุมป้องกันพิเศษ กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะให้สามารถสั่งการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยลดเวลาในการเกิดไฟฟ้าดับกรณีสายส่งต้นทางของ กฟผ. ที่จ่ายไปยังโรงไฟฟ้า VSPP เกิดเหตุขัดข้อง ซึ่งการทำงานของระบบใหม่นี้จะสั่งการผ่านระบบเครือข่ายมือถือ 3G – 4G เนื่องจากโรงไฟฟ้า VSPP ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายภายในของ กฟผ. จึงจำเป็นต้องใช้เครือข่ายมือถือเข้ามาช่วยควบคุมระบบสั่งการโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยคาดว่าไม่เกิน 6 เดือนจากนี้ หรือประมาณปลายปี 2562 จะจัดทำระบบแล้วเสร็จสามารถนำไปติดตั้งในโรงไฟฟ้าของ VSPP ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคัดเลือก VSPP ที่จะนำร่องติดตั้งระบบก่อน (Pilot Project) จำนวน 5 โรงไฟฟ้า รวมทั้งการออกแบบระบบและการจัดหาอุปกรณ์ ส่วนต้นทุนการผลิตอุปกรณ์อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อชุด

เพิ่มประสิทธิภาพ & ลดต้นทุน ด้วย “ระบบรวบรวมจัดเก็บข้อมูลหม้อแปลงไฟฟ้าแบบออนไลน์และมอนิเตอร์ริง”

อีกหนึ่งผลงานรางวัลเหรียญเงินจากเวทีนานาชาติ 47th International Exhibition of Inventions Geneva ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อช่วงวันที่ 10-14 เมษายนที่ผ่านมา คือ “ระบบรวบรวมจัดเก็บข้อมูลหม้อแปลงไฟฟ้าแบบออนไลน์และมอนิเตอร์ริง” (Real – time Transformer Monitoring & Diagnostic System) ผลงานการออกแบบและคิดค้นโดยฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน ฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ระบบส่ง กฟผ. ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบอุปกรณ์ เพื่อมาช่วยตรวจสอบสภาพหม้อแปลงไฟฟ้าให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญและมีมูลค่าสูงที่สุดในระบบส่งจ่ายไฟฟ้า หากหม้อแปลงไม่สามารถใช้งานได้อาจทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง

นายวีรยุทธ ทัศนพงศ์ และนายไพรวัลย์ จรวงษ์ ช่างระดับ 7 แผนกอุปกรณ์ระบบควบคุมป้องกันพิเศษ กองพัฒนาระบบควบคุมระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า ระบบการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าแบบเก่า จะใช้คนเป็นหลักในการตรวจวัดสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในของหม้อแปลง เช่น อุณหภูมิ กระแสการรั่วไหล เป็นต้น ทำให้มีต้นทุนในการบำรุงรักษาจากการส่งผู้ปฏิบัติงานเข้าไปทำงาน และยังมีต้นทุนความเสี่ยงจากการต้องดับไฟหม้อแปลงเพื่อซ่อมบำรุง จึงได้สร้างระบบมอนิเตอร์แบบออนไลน์ที่จะเข้ามาตรวจวัดสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในหม้อแปลงโดยไม่จำเป็นต้องปลดหม้อแปลงออกจากระบบไฟฟ้า ด้วยการนำอุปกรณ์แปลงสัญญาณ (Sensors) และ Terminal Unit 4.0 (TU4.0) ไปทดลองใช้งานกับหม้อแปลง 500 kV ทำให้การดูแลรักษาหม้อแปลงเปลี่ยนไปจากเดิมที่จะบำรุงรักษาตามวาระ มาเป็นการบำรุงรักษาตามความเสี่ยงช่วยลดต้นทุนลงได้มาก

นอกจากนั้น นวัตกรรมดังกล่าวจะมีระบบซอร์ฟแวร์ทำหน้าที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพหรือสุขภาพของหม้อแปลงที่เรียกว่า Analytic Software ซึ่งจะกลายเป็นฐานข้อมูล หรือ Big DATA ที่ กฟผ. สามารถนำไปต่อยอดงานงาน Machine Learning หรือ AI เพื่อใช้ในระบบการผลิตไฟฟ้า และหากพบสิ่งผิดปกติของหม้อแปลง ระบบซอร์ฟแวร์จะแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมีระบบ Dashboard ที่สามารถติดตามสถานะของอุปกรณ์ต่างๆ ของหม้อแปลงได้ ซึ่งตั้งแต่ปรับปรุงระบบมาใช้นวัตกรรมนี้ ไม่พบเหตุการณ์ความเสียหายอีกเลย สำหรับหม้อแปลง 500 kV และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายของสถานีไฟฟ้า ทำให้เกิดผลประโยชน์ด้านการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ทั้งหมดประมาณ 232.57 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 15 ปี

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ติดตั้งระบบดังกล่าวกับหม้อแปลง 500 kV ในสถานีไฟฟ้าแรงสูง จนถึงขณะนี้ 9 ตำแหน่ง ใน 3 สถานีไฟฟ้า ได้แก่ 1.สถานีไฟฟ้าแรงสูงวังน้อย 2.สถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3. สถานีไฟฟ้าแรงสูงปลวกแดง และจะขยาย เพิ่มเติม จนครบ 87 ตำแหน่ง ใน 11 สถานีไฟฟ้าทั่วประเทศ ส่วนต้นทุนอุปกรณ์ที่ใช้กับหม้อแปลงอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อชุด

จะเห็นได้ว่า การแข่งขันในยุค Disrupt ทำให้องค์กรอย่าง กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนจำเป็นต้อง Transform ปรับเปลี่ยนการดำเนินการและบริการต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เป็นองค์กรที่ปราดเปรียว (Agile Team) สามารถรักษาเสถียรภาพของระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้

Advertisment