รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ สั่งเลื่อนการเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 23 ออกไปพิจารณาในปี 2564 โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำ อาจจะไม่จูงใจนักลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการเร่งนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) เป็นนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนก่อน
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อเร็วๆนี้ และเห็นควรให้เลื่อนการเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ครั้งที่ 23 บริเวณทะเลอ่าวไทย ออกไปพิจารณาในปี 2564 โดยภายในปี 2563 นี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จะยังไม่คลี่คลาย ในขณะที่ ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับต่ำ การเร่งเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่จึงเป็นจังหวะที่ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ในแผนเดิม ช่วงที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น ได้กำหนดจะเปิดให้ยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเดือนเม.ย. 2563 ที่ผ่านมา แต่ประสบปัญหาเรื่องโควิด-19 จึงต้องเลื่อนแผนออกไปก่อน และเมื่อมาถึงในช่วงที่นายสุพัฒนพงษ์ มารับตำแหน่ง รัฐมนตรีพลังงาน ก็ยังคงเห็นควรให้เลื่อนแผนการเปิดให้ยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมออกไป ตามแนวคิดของนายสนธิรัตน์
การเลื่อนแผนการเปิดให้ยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ยังเป็นเพราะเหตุผลที่นายสุพัฒนพงษ์ ต้องการที่จะเร่งนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) ซึ่งเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญมากกว่า ให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติภายในปีนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประเทศไทยไม่ได้เปิดให้มีการยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาตั้งแต่ปี 2550 หรือนานกว่า 13 ปีแล้ว
โดยสำหรับการเตรียมการเพื่อเปิดให้มีการยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 ที่ถูกเลื่อนออกไปนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมแล้ว จำนวน 3 แปลงในอ่าวไทย รวมพื้นที่กว่า 34,873 ตารางกิโลเมตร และกำหนดเดิมต้องการจะให้รู้ผลผู้ชนะการประมูลและมีการลงนามในสัญญาได้ภายในปี 2563 นี้ และในปี 2564 ก็จะสามารถเริ่มต้นการสำรวจได้ ซึ่งประเมินว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท รวมถึงการต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท หากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม
สำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมรอบ 23 ที่เตรียมการไว้ว่าจะเปิดเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมประมูล ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) นั้นมีจำนวน 3 แปลง
ได้แก่ 1. แปลง G1/63 พื้นที่ A และแปลง G1/63 พื้นที่ B รวมพื้นที่ 8,197 ตารางกิโลเมตร. 2. แปลง G2/63 พื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร และ 3. แปลง G3/63 พื้นที่ A และแปลง G3/63 พื้นที่ B รวมพื้นที่ 11,646 ตารางกิโลเมตร