การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ไม่เพียงช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนต้นทางแห่งสรรพชีวิตและพลังงาน เพื่อส่งต่อความหลากหลายทางชีวภาพไว้ให้คนรุ่นหลัง แต่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งยังสามารถเป็นเครื่องมือสะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของระบบนิเวศในป่า แม่น้ำ และวัฒนธรรมของคนในชุมชน เพื่อปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือน
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า เล็งเห็นถึงประโยชน์ดังกล่าว จึงได้ปรับปรุง พัฒนา และส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว” ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากได้ร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และชุมชนบ้านแม่กลางหลวง ปรับปรุงเส้นทางแห่งนี้เมื่อปี 2565 ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย และเป็นมิตรกับธรรมชาติ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เป็นเส้นทางฯ ลำดับที่ 4 ที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ปรับปรุงในพื้นที่ป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต่อจากเส้นทางฯ ยอดดอย (ปี 2561) เส้นทางฯ กิ่วแม่ปาน (ปี 2562) และเส้นทางฯ อ่างกา (ปี 2564) ในการปรับปรุงครั้งนี้ มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้นำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอมาใช้ในการออกแบบเส้นทางฯ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชุมชน พร้อมกับพัฒนาระบบสื่อความหมายภายในเส้นทางฯ จำนวน 14 จุด ตลอดจนพัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์และวีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของชุมชนที่อยู่ร่วมกับผืนป่าต้นน้ำได้อย่างยั่งยืน
–
–
สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว ตั้งอยู่ ณ บ้านแม่กลางหลวง ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีจุดเริ่มต้นเส้นทางบริเวณกิโลเมตรที่ 30 ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ ระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร สูงกว่า 1,280 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ใช้เวลาเดินประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่มีความโดดเด่นในฐานะเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ผสมผสานธรรมชาติที่สวยงาม คุณค่าของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และวัฒนธรรมของชุมชนชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่กลางหลวง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ “คนอยู่ร่วมกับป่า” ได้อย่างเป็นรูปธรรม
–
สภาพทางเดินส่วนใหญ่ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว มีลักษณะเป็นป่าดิบเขาระดับล่าง นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมธรรมชาติระหว่างทางได้แบบสบายๆ โดยจะได้ยินทั้งเสียงนก เสียงแมลง ได้ยินเสียงน้ำตกผาดอกเสี้ยว หรือน้ำตกรักจัง ได้พบพืชหายากหลายชนิด ได้สัมผัสกับอากาศที่บริสุทธิ์ ได้เห็นนาขั้นบันไดทอดยาวเขียวชอุ่ม รวมทั้งได้เห็นวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ ณ หมู่บ้านแม่กลางหลวง ในปลายทางอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จะต้องมีไกด์ท้องถิ่นที่เป็นชาวบ้านเป็นคนนำเดิน เพราะรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากค่านำเที่ยวจะนำส่งเข้ากองทุนท่องเที่ยวชุมชน เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้กับคนในชุมชน และใช้ในการดูแลรักษาผืนป่า เช่น การลาดตระเวนป้องกันไฟป่า และการเก็บขยะ ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่นตัวเอง
–
คุณเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจบนเส้นทางความยั่งยืน โดยก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศมากว่า 20 ปี โดยการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้แข็งแรง ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของมูลนิธิฯ มาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้สัมผัสถึงคุณค่าความสำคัญของป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ และตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศ จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการปกป้องและร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน
“จุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวครั้งนี้ คือการพัฒนาพื้นที่บ้านแม่กลางหลวงให้เป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของพื้นที่ โดยใช้กลไกการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน และการดำรงชีวิตของชุมชนให้มีรายได้มั่นคงและทั่วถึง”
ทั้งนี้ ในการปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว มูลนิธิฯ ได้ยึดหลักการออกแบบให้มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด การรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่างๆ ตลอดจนนำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนเอาไว้ นอกจากนั้น ยังพัฒนาระบบสื่อความหมาย 14 จุด ในเส้นทางฯ เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ คุณค่า และความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในผืนป่า ทั้งยังพัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์และวิดีโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา
–
นอกเหนือจากการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติแล้ว มูลนิธิฯ ยังมีแผนที่จะนำความรู้ในการดำเนินงาน 6 ด้าน มายกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลผืนป่าต้นน้ำของบ้านแม่กลางหลวง ประกอบด้วย 1. การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ 19,000 ไร่ 2. การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและปรับระบบเกษตร 500 ไร่ 3. การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว 4. การส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์ 5.การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และ 6.การส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบคนอยู่ร่วมกับป่า เพื่อให้บ้านแม่กลางหลวงเป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อย่างแท้จริง
–
คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ที่ได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 มาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและขับเคลื่อนภารกิจของกรมอุทยานฯ ให้สามารถดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่น
อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เป็นอีกบทพิสูจน์ของการให้ความสำคัญต่อทั้งธรรมชาติ การรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน รวมถึงเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิต “คนอยู่ร่วมกับป่า” ภายใต้บริบทนิเวศวัฒนธรรม เพื่อเป็นพลังสำคัญในการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำที่สำคัญแห่งนี้อย่างยั่งยืนและสมดุล
–