สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) แจงขั้นตอนโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียว สำหรับผู้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการ ต้องลงนามยอมรับเงื่อนไขของการไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องภายใน 14 วัน หรือภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 จากนั้นจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ต่อไป โดยผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ปี 2567-2568 ต้องลงนาม PPA ภายใน 180 วัน ส่วนผู้ที่จะ COD ระหว่างปี 2569-2573 จะต้องลงนาม PPA ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขของการไฟฟ้า สรุป 175 ราย ผ่านด่าน รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์ โดยบริษัทในกลุ่ม Gulf ได้เข้าร่วมโครงการมากที่สุด 21 โครงการ รวมประมาณ 1,322 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ชี้แจงการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วม “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” หรือ โครงการไฟฟ้าสีเขียว เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมานั้น หลังจากนี้ผู้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการจะมีเวลาภายใน 14 วัน หรือภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 นี้ สำหรับลงนามยอมรับเงื่อนไขของการไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการไฟฟ้าจะเป็นผู้ส่งหนังสือไปยังผู้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการทั้งหมด เพื่อให้ลงนามยอมรับเงื่อนไข โดยหากปฏิเสธไม่ยอมรับเงื่อนไข ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
ทั้งนี้ภายหลังจากลงนามยอมรับเงื่อนไขของการไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการจะต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ซึ่งตามกรอบที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567-2568 ต้องลงนาม PPA ภายใน 180 วัน นับจากวันที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขการไฟฟ้า ส่วนผู้ที่จะ COD ระหว่างปี 2569-2573 จะต้องลงนาม PPA ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขการไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถลงนาม PPA ได้ทันกำหนด จะต้องทำหนังสือชี้แจงไปยังการไฟฟ้าถึงสาเหตุที่ไม่สามารถลงนาม PPA ได้ทัน และการไฟฟ้าจะเป็นผู้พิจารณาแต่ละกรณีว่าจะอนุมัติให้ขยายเวลาการลงนาม PPA ได้หรือไม่ จากนั้นการไฟฟ้าจะรายงานข้อมูลมายัง กกพ. ให้รับทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับ “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” หรือ โครงการไฟฟ้าสีเขียว มีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 175 ราย รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 5,203 เมกะวัตต์
โดยแบ่งเป็นประเภท พลังงานลม จำนวน 22 ราย รวม 1,490.20 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) มีเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 24 ราย รวม 994.06 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 129 ราย รวม 2,368 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ ของเสีย) ไม่มีผู้ผ่านการพิจารณา
โดยบริษัทในกลุ่ม Gulf ได้เข้าร่วมโครงการมากที่สุด 21 โครงการ ประมาณ 1,322 เมกะวัตต์ รองลงมาได้แก่ บริษัทในกลุ่ม Gunkul ได้เข้าร่วมโครงการ 6 โครงการ ประมาณ 279 เมกะวัตต์ บริษัทในกลุ่ม Super ได้เข้าร่วมโครงการ 5 โครงการ ประมาณ 118 เมกะวัตต์ บริษัทในกลุ่ม BlueCircle SG ได้เข้าร่วมโครงการ 5 โครงการ ประมาณ 436 เมกะวัตต์ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ได้เข้าร่วมโครงการ 18 โครงการ ประมาณ 112.73 เมกะวัตต์ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ WHAUP ได้เข้าร่วมโครงการ 5 โครงการ ประมาณ 125.4 เมกะวัตต์ และกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าร่วมโครงการ 15 โครงการ ประมาณ 339.3 เมกะวัตต์ เป็นต้น