สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น “โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู และขอนแก่น เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใน สปป.ลาว (ระยะที่ 2) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ โครงการ LNKP2” มูลค่า 14,600 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 3-17 เม.ย. 2568 เผยกระทบค่าไฟฟ้าขายส่งเพียง 0.27 สตางค์ต่อหน่วย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center – ENC ) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู และขอนแก่น เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใน สปป.ลาว (ระยะที่ 2) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ โครงการ LNKP2” ระหว่างวันที่ 3-17 เม.ย. 2568 ทางเว็บไซต์ของ สำนักงาน กกพ.
โดยโครงการ LNKP2 ดังกล่าวเกิดจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย ซึ่งอยู่ภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว กรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 10,500 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ กฟผ.ได้ลงนาม Tariff MOU และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับผู้พัฒนาโครงการปากลายแล้ว จึงจัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อสร้างโครงการ LNKP2 ในวงเงินลงทุนรวม 14,600 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเพิ่มขึ้น 0.27 สตางค์ต่อหน่วย เฉลี่ยตลอดอายุโครงการ (ณ อัตราส่วนลด (Discount Rate) ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.08%)
โครงการ LNKP2 สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ภายใต้วัตถุประสงค์โครงการระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกทม. เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า(โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 โดยมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2566-2570 ซึ่งพัฒนาระบบส่งไฟฟ้ารองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพื่อส่งจ่ายไฟฟ้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่ภาคกลาง และเขตนครหลวง
สำหรับโครงการ LNKP2 จะช่วยรองรับการส่งพลังไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลายใน สปป.ลาว โดย กฟผ.จะก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเฉพาะในฝั่งไทย ส่วนการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าในฝั่ง สปป.ลาว เป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าตามเงื่อนไขใน PPA
โดย กฟผ.จะสร้างสายส่ง 500 kV ขอนแก่น 4- ชายแดน วงจรคู่ ระยะทาง 220 กิโลเมตร พร้อมติดตั้ง Fiber Optic ในสาย Overhead Ground Wire พร้อมทั้งขยายสถานีไฟฟ้า 500 kV ขอนแก่น 4 รองรับสายส่ง 500 kV จากขายแดนจำนวน 2 วงจร
อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้ศึกษาแนวทางเลือกการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าปากลาย โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ กรณีที่ 1.ก่อสร้างสายส่ง 500 kV ปากลาย-ท่าลี่ (สถานีไฟฟ้าที่ใกล้ชายแดนที่สุด) และก่อสร้างสายส่ง 500 kV ท่าลี่-ขอนแก่น 4 เพิ่ม 2 วงจร และขยายสถานีไฟฟ้า 500 kV ท่าลี่ จำนวน 4 วงจร รวมทั้งขยายสถานีไฟฟ้า 500 kV ท่าลี่ จำนวน 4 Bays
และ 2. ก่อสร้างสายส่ง 500 kV ปากลาย-ขอนแก่น 4 วงจร 1 และ 2
โดยเมื่อเปรียบเทียบค่าก่อสร้างและระบบส่งไฟฟ้าทั้ง 2 แนวทางแล้วพบว่า แนวทางเลือกที่ 2 มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าแนวทางที่ 1 ถึง 2,700 ล้านบาท เนื่องจากการก่อสร้างสายส่งโดยตรงจากชายแดนไปที่สถานีไฟฟ้า 500 kV ขอนแก่น 4 มีระยะทางที่สั้นและไม่ต้องปรับปรุงขยายสถานีไฟฟ้า 500 kV ท่าลี่