สำนักงาน กกพ. รับฟังความเห็นถึง 1 ก.ย. 2566 โครงการ กฟผ.ขยายระบบไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล วงเงิน 5,800 ล้านบาท

310
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นประชาชน 18 ส.ค.-1 ก.ย. 2566 ใน “โครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 4 (BSB4)ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” ระหว่างปี 2566-2570 มูลค่าโครงการ 5,800 ล้านบาท รองรับการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของ กทม.และปริมณฑล ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.9% ต่อปี จากการขยายตัวของเมืองและวิถีชีวิตยุคปัจจุบันที่ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนใน “โครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 4 (BSB4) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” ระหว่างปี 2566-2570 มูลค่าโครงการ 5,800 ล้านบาท  โดยเปิดรับฟังความเห็นระหว่างวันที่ 18 ส.ค.-1 ก.ย. 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ของสำนักงาน กกพ.

สำหรับโครงการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของ “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1)” พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.9% ต่อปี คิดเป็น 30.9% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ส่งผลให้สถานีไฟฟ้าแรงสูงบางแห่งไม่สามารถรองรับการจ่ายไฟฟ้าแบบ N-1 (ระบบส่งไฟฟ้าแบบ 1 วงจร) ได้  ดังนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 จึงเห็นชอบโครงการ BSB4 ในแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น

- Advertisment -

ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้ทำการศึกษาเพื่อปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต จากการขยายตัวของเมือง,สาธารณูปโภค, โครงสร้างพื้นฐาน,วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ และเป็นจุดจ่ายไฟฟ้าแห่งใหม่ให้การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) รวมทั้งรักษาระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้จ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง, รองรับการเกิดเหตุการณ์ขัดข้อง หรือการหยุดจ่ายไฟฟ้ากรณีบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้าตามแผนงาน, ลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจของประเทศจากการเกิดไฟฟ้าดับ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการควบคุมและจ่ายไฟฟ้า รวมทั้งลดความสูญเสียในระบบไฟฟ้าด้วย    

โดยโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 5,800 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 โครงการย่อย ได้แก่ 1.การก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 kV ราชพฤกษ์ GIS (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบใช้ฉนวนก๊าซ) วงเงิน 830 ล้านบาท 2. ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 kV นิมิตใหม่ GIS วงเงิน 900 ล้านบาท 3.ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 kV สุขสวัสดิ์ GIS วงเงิน  2,660 ล้านบาท 4.เปลี่ยนตัวนำสายส่ง 230 kV บางกะปิ-รัชดาภิเษก-ลาดพร้าว เป็นชนิดของสายตัวนำไฟฟ้าแบบ HTLS (High Temperature, Low Sag) วงเงิน 300 ล้านบาท

5.งานติดตั้งหม้อแปลงเพิ่มเติมตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงต่างๆ 1,200 MVA วงเงิน 350 ล้านบาท และ 6.งานเบ็ดเตล็ด สำหรับการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า และสถานีไฟฟ้าแรงสูงอื่นๆ ตามความจำเป็นเพื่อรักษาระดับความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ กฟผ. วงเงินรวม 560 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามโครงการ BSB4 ดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย 0.14 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้หากความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงต่ำกว่าแผน PDP 2018 Rev.1 มาก อาจยิ่งทำให้ผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นได้

Advertisment