สำนักงาน กกพ.พาสื่อไทยดูงานซื้อขายไฟกันเอง หรือPeer to Peer ที่ญี่ปุ่น

2347
- Advertisment-

สำนักงาน กกพ.พาสื่อไทย ดูงานการทดลองระบบภาคประชาชนซื้อขายไฟฟ้ากันเอง หรือ Peer to Peer ( P2P) ที่กำหนดพื้นที่เฉพาะในรูปแบบSandbox  ที่ญี่ปุ่น ก่อนประกาศให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงการระบาดของ COVID-19 โดยพบยังมีอุปสรรคด้านกฎหมาย เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งยังต้องรอลุ้นให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะประชุมวันที่19 มี.ค.2563 ผ่อนคลายกฏระเบียบให้สามารถดำเนินการได้

ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่จุดที่ประชาชนสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันเอง หรือ Peer to Peer ( P2P)  ได้ในเร็วๆนี้ โดยทดสอบในพื้นที่เฉพาะที่มีการยกเว้นกฏระเบียบที่เป็นอุปสรรคหรือโครงการ ERC Sandbox เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ในวันที่19มี.ค. 2563 นี้ เพื่อขอยกเว้นนโยบาย Enhanced Single Buyer  ซึ่งเป็นรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียวเฉพาะหน่วยงานการไฟฟ้าที่ไทยใช้มาอย่างยาวนาน   ทั้งนี้รูปแบบP2P นับเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ที่ สำนักงาน กกพ.ต้องวางรากฐานการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ดังกล่าวให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และรองรับการขยายตัวทั่วประเทศในอนาคต

โดยในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมานี้ สำนักงาน กกพ. ได้ศึกษาต้นแบบ P2P ของหลายประเทศในโลก และล่าสุดเมื่อวันที่ 16-20 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ก็ได้พาคณะสื่อมวลชนไทย ในสายข่าวพลังงาน เดินทางมาศึกษาดูงานโครงการทดสอบภายใต้โครงการ Sandbox รูปแบบ Peer to Peer ของบริษัท Kansai Electric Power ประเทศญี่ปุ่น ก่อนช่วงที่จะมีการประกาศให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงการระบาดไวรัสCOVID-19

- Advertisment -

บริษัท Kansai Electric Power เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีส่วนแบ่งการตลาด  17% เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้า 34 กิกะวัตต์ และยังได้ขยายการลงทุนไปถึง 11 ประเทศ รวมถึงในไทยด้วย  ซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าในหลายรูปแบบทั้งพลังงานความร้อน,นิวเคลียร์,น้ำและพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ตามบริษัทฯยังให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนานวัตกรรมด้านไฟฟ้า จะเห็นได้จากภายในองค์กรมีการตั้ง องค์กร Innovation Laboratory ขึ้นมาเป็นการเฉพาะด้วย เพื่อศึกษาและนำนวัตกรรมใหม่ๆมาทดลองใช้

สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P นั้นทาง Kansai Electric Power  ได้ใช้เวลา 2 ปีในการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป),การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและการแบ่งไฟฟ้าที่เหลือไปขายให้อาคารใกล้เคียง ผ่านระบบเทคโนโลยีตัวกลางซื้อขายไฟฟ้า Blockchain ซึ่งการซื้อขายไฟฟ้าจะคล้ายกับกระดานหุ้น ที่มีทั้งคำเสนอซื้อและขายไฟฟ้าในแต่ละวัน,การกำหนดปริมาณไฟฟ้าที่จะซื้อจะขาย,ช่วงเวลาที่จะซื้อขาย และราคาต่อหน่วย เป็นต้น โดยพบว่าใน 30 นาที เกิดการซื้อขายไฟฟ้าถึง 48 ครั้ง

ทั้งนี้ในบ้านหลังแรกซึ่งมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 3.7 กิโลวัตต์ เป็นการทดลองใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทดสอบผลการประหยัดไฟฟ้า โดยที่ไม่มีการติดตั้งแบตเตอรี่สำรองกักเก็บพลังงาน ซึ่งไฟฟ้าที่เหลือใช้ในช่วงกลางวันจะส่งไปจำหน่ายผ่านระบบ  Blockchain ส่วนกลางคืนบ้านหลังดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าจากระบบเหมือนปกติ  ทั้งนี้ผลการทดสอบบื้องต้นพบว่า บ้านหลังดังกล่าวจะประหยัดการซื้อไฟฟ้าจากระบบสายส่งปกติลงได้ส่วนหนึ่ง และมีการซื้อไฟฟ้าจากบ้านหลังดังกล่าวผ่านระบบ Blockchain แล้ว แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินจริง

ขณะเดียวกันมีการทดสอบบ้านอีกหลังที่มีผนังซ้อน 2 ชั้นเพื่อควบคุมอุณหภูมิ มีการทดสอบที่อุณหภูมิต่ำสุด 7 องศาเซลเซียส และสูงสุด 33 องศาเซลเซียส ว่าแต่ละช่วงจะมีการใช้ไฟฟ้าปริมาณเท่าไหร่ พร้อมกับทดสอบการควบคุมระบบเปิดปิดไฟฟ้า ในกรณีไฟฟ้าขาดแคลน ซึ่งกรณีนี้จะมีการจ่ายเงินชดเชยคืนให้ทาง  Blockchain หากไฟฟ้าไม่พอและถูกสั่งให้ตัดไฟ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและยังไม่ได้สรุปผล ออกมาอย่างแน่ชัด

ฟูมิอากิ อิสชิดะ ผู้จัดการทั่วไป ห้องปฏิบัติการใช้พลังงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนา Kansai Electric Power

ฟูมิอากิ อิสชิดะ ผู้จัดการทั่วไป ห้องปฏิบัติการใช้พลังงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนา Kansai Electric Power กล่าวว่า ภาพรวมการซื้อขายไฟฟ้าในญี่ปุ่น ยังมีอุปสรรคด้านกฎหมายที่ยังไม่อนุญาตให้ซื้อขายไฟฟ้ากันเองของภาคประชาชน ดังนั้น บริษัท จึงได้จัดทำโครงการ Sandbox ขึ้น เพื่อทดสอบระบบซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์รูฟท็อปของบริษัทฯ ขึ้นมา และคาดว่าในอนาคตญี่ปุ่นจะเริ่มนำมาใช้ได้จริง

เนื่องจากในปี 2562 ที่ผ่านมา มีผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ กำลังผลิตรวม 3 กิกะวัตต์ หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT)แล้ว และเหลืออีก 1 กิกะวัตต์ที่ใกล้จะหมดอายุลง ขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้าจะหมดอายุสัญญาอีก 2 กิกะวัตต์

ดังนั้นจึง มี 3 ทางเลือกสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า คือ 1.ขายไฟให้กับผู้ซื้อรายใหม่ แต่จะเหลือราคา 8 เยนต่อหน่วย จากปัจจุบัน 18 เยนต่อหน่วย 2.ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง แทนการซื้อไฟฟ้าใช้ ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 24 เยนต่อหน่วย และ3.ซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer ด้วยการนำเทคโนโลยี Blockchain  ซึ่งช่วยทำให้รายย่อยสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันได้อย่างสะดวก และราคาเหมาะสม  เพราะเป็นการตกลงราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ

โดยในส่วนของ Kansai Electric Power สัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของบริษัทฯ จะหมดลงใน 10 ปีข้างหน้า มีกำลังผลิตประมาณ 10 เมกะวัตต์ ดังนั้นบริษัทฯ คาดว่าจะนำรูปแบบ P2P มาเสนอเป็นทางเลือก

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเตรียมทดสอบระบบ P2P ในโครงการ ERC Sandbox เป็นครั้งแรกเพื่อทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริง  โดยติดตามดูพฤติกรรมของผู้บริโภคและผลกระทบต่อระบบว่าจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการปลดล็อคระบบ Enhanced Single Buyer จาก กพช.ก่อน โดยหากประสบผลสำเร็จจึงจะมีการขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ จนครอบคลุมทั่วทั้งประเทศในที่สุด

Advertisment