สั่งสำรวจความสนใจนักลงทุนก่อนเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ พร้อมเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

651
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน มอบกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสำรวจความสนใจนักลงทุนก่อนเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ( รอบที่ 23 ) พร้อมเดินหน้าเจรจาให้ได้ข้อสรุปพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อเริ่มต้นเข้าไปพัฒนาพื้นที่ ที่ประเมินว่ามีศักยภาพสูงที่จะพบปิโตรเลียม ในขณะที่หนุนขายไฟฟ้าให้เมียนมาและกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ 40%

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 23) ว่า ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปสำรวจความสนใจของนักลงทุนว่า  หากมีการเปิดในช่วงนี้จะยังสนใจที่จะยื่นขอสิทธิสำรวจอยู่หรือไม่  เพราะขณะนี้ราคาพลังงานไม่สูงและราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

- Advertisment -

สำหรับกรณีการเข้าพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ ที่ ปตท.สผ.เป็นผู้ชนะประมูลและยังต้องมีการส่งมอบพื้นที่คืนของผู้รับสัมปทานรายเดิมนั้น กระทรวงพลังงานจะพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้การส่งมอบพื้นที่เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานจะพยายามสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นกับการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่ประเมินว่ามีศักยภาพสูงด้านปิโตรเลียมให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะปัจจุบันทั้งไทยและกัมพูชา มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่มีประเด็นอะไรที่เป็นข้อขัดแย้ง  และการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

สำหรับการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่มีเอกชนหลายรายได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะเห็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ภายในปี 2563 นี้

ส่วนประเด็นปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่สูงเกินระดับที่เหมาะสมถึง 40% ของความต้องการใช้ทั้งประเทศ หรือสูงเกินความต้องการใช้ถึง 20,000 เมกะวัตต์  จากปกติสำรองไฟฟ้าควรอยู่ที่ระดับ 15%  นั้น นายสุพัฒนพงษ์  กล่าวว่ากระทรวงพลังงานจะเร่งผลักดันยกระดับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงกับเมียนมา และกัมพูชา ให้มีมาตรฐานและคุณภาพไฟฟ้าเดียวกัน ซึ่งหากสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินให้ประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยลดปริมาณสำรองส่วนเกินในประเทศลงได้  โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการขายไฟฟ้าให้ต่างประเทศได้ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีนับจากนี้

ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)อยู่แล้ว ก่อนครบกำหนดเพื่อลดสำรองไฟฟ้านั้น  ยังเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไม่อยากให้กระทบต่อเอกชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส โควิด-19

Advertisment