- Advertisment-

การเปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไม่เจาะจงแหล่งที่มา Utility Green Tariff แบบที่ 1 หรือ UGT1 เป็นการเปิดขายไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรกของประเทศไทยซึ่งกำลังถูกพูดถึงกันอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีความต้องการใช้บริการเพื่อลดปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าและตอบโจทย์การเป็นบริษัทที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยกลไกการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว UGT1 เป็นอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประเทศหรือไม่นั้น นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และในฐานะโฆษกประจำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ไว้ดังนี้

ENC – ไฟฟ้าภายใต้กลไก UGT1 มาจากไหน?
PEA – UGT1 เป็นไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานสะอาด ส่วนใหญ่เป็นพลังงานน้ำ จากทั้งหมด 7 เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่ 1. โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร กำลังผลิตตามสัญญา 36 เมกะวัตต์ 2. โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ กำลังผลิตตามสัญญา 40 เมกะวัตต์ 3.โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิริกิติ์ กำลังผลิตตามสัญญา 500 เมกะวัตต์ 4.โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง กำลังผลิตตามสัญญา 84 เมกะวัตต์ 5.โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนท่าทุ่งนา กำลังผลิตตามสัญญา 39 เมกะวัตต์ 6.โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ กำลังผลิตตามสัญญา 300 เมกะวัตต์ และ 7.โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล กำลังผลิตตามสัญญา 136 เมกะวัตต์

ENC – หากผู้ประกอบการต้องการใช้ UGT1 กับทาง PEA ต้องทำอย่างไร?
PEA – ตอนนี้ PEA เปิดให้สมัครและลงทะเบียนไว้ ใน www.ugt.pea.co.th หรือ www.pea.co.th แล้วกดเข้าไปที่ UGT ก็สามารถไปสมัครได้ ซึ่งจะหมดเขต 28 ก.พ. 2568 โดยช่องทางนี้จะเป็นของลูกค้า PEA แต่ถ้ารายใดใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็ต้องไปลงทะเบียนกับ กฟน. โดยปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนสมัครกับ PEA แล้ว 18 ราย ซึ่งผู้สมัครบางรายก็มีหลายจุดซื้อขาย เพราะบางรายมีสถานประกอบการอยู่หลายจังหวัด หลายพื้นที่ ทั้งนี้มีผู้แจ้งความจำนงค์ไว้รวม 300 ล้านหน่วย และถ้ารวมที่แจ้งกับ กฟน. ด้วยจะมีประมาณ 600 ล้านหน่วย ซึ่งปัจจุบัน UGT1 มีไฟฟ้าไว้รองรับทั้งสิ้น 2,000 ล้านหน่วยต่อปี โดย PEA จะเปิดให้บริการจริงสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก่อน และจะใช้ระบบขายไฟฟ้าแบบใครมาก่อนได้ก่อน (First come first serve) ในวันที่ 10 มี.ค. 2568 จากนั้นจะสามารถใช้ไฟฟ้าได้จริงในรอบเดือน เม.ย. 2568

- Advertisment -

ENC – อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว UGT1 เป็นอย่างไร?
PEA – อัตราค่าบริการจะจ่ายเป็น 2 อย่างคือ เนื้อพลังงาน คือค่าไฟฟ้าที่ซื้อปกติ เช่น ค่าไฟฟ้า 4.15 บาทต่อหน่วย และมีค่าบริหารจัดการของ UGT1 5.94 สตางค์ต่อหน่วย

ENC – จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประชาชนทั่วไปหรือไม่?
PEA – ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่ไม่ได้มาลงทะเบียนขอใช้ไฟฟ้า UGT1 ในครั้งนี้ จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ยังคงจ่ายค่าไฟฟ้าตามปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า UGT1 เพราะคนที่จะมาลงทะเบียนขอใช้ไฟฟ้าสีเขียว จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่ม ลูกค้าขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และลูกค้าธุรกิจเฉพาะราย ของ PEA

ENC – ประโยชน์ของ UGT1 คืออะไร?
PEA – UGT1 จะเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่มีนโยบายเรื่องการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ดังนั้นผู้ประกอบการจะพยายามผลักดันให้บริษัทในกลุ่มของเขาใช้พลังงานสะอาดในการผลิตสินค้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงนโยบายการดำเนินงานของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันอาจมีผู้ประกอบการบางรายที่ต้องส่งสินค้าไปประเทศกลุ่มยุโรปที่มีข้อกฎหมาย CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งกำหนดว่า หากจะขายสินค้าในกลุ่มประเทศยุโรป ต้องทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้านั้นผลิตจากพลังงานที่เป็นพลังงานสะอาดเท่านั้น จึงจะได้รับการยอมรับ แต่ถ้าไม่สามารถยืนยันได้ว่าใช้พลังงานสะอาดในการผลิตจริง ก็จะถูกตั้งกำแพงภาษี แทนที่จะขายสินค้าได้ในราคาถูกลง ก็จะต้องขายสินค้าในราคาแพง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะต้องใช้พลังงานสะอาด จึงต้องการ UGT1

ENC – ผู้ประกอบการที่จองซื้อ UGT1 นอกจากได้ไฟฟ้าสีเขียวแล้ว จะมีอะไรรับรองให้ว่าใช้ไฟฟ้าสะอาดจริง?
PEA – เมื่อซื้อไฟฟ้า UGT1 นอกจากจะได้พลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังได้รับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) ตามมาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่ง กฟผ. ในฐานะที่เป็นผู้ออกใบอนุญาต ก็จะกำกับดูแลเรื่องการให้ใบรับรองควบคู่กันไปด้วย

ENC – ในอนาคตจะมีไฟฟ้าสีเขียวออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่?
PEA – จะมีออกมาเพิ่มเติมอีกแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันยังมีลูกค้าอีกกลุ่ม เช่น กลุ่ม DATA Center ที่อาจจะยังไม่สนใจ UGT1 เพราะ UGT1 ยังมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถระบุได้ว่าผลิตไฟฟ้าสะอาดมาจากแหล่งไหน ใครเป็นคนจำหน่าย และเป็นพอร์ตเดิมที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเดิมอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็น UGT2 ก็จะเหมาะกลับกลุ่ม DATA Center ที่ต้องการรู้ชัดเจนว่า ไฟฟ้าซื้อมาจากใครแล้วผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดไหน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ซึ่ง UGT2 จะมีสองพอร์ต คือ พอร์ตที่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์และลม แต่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งลูกค้ากลุ่ม DATA Center จะชอบ UGT2 มากกว่า แต่ถ้าลูกค้าที่ไม่ต้องการระบุเฉพาะเจาะจงมากมาย และยอมรับได้สำหรับพลังงานสะอาดที่มีผลิตดั้งเดิมอยู่แล้ว UGT1 ก็จะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้มากกว่า

ENC – สำหรับ UGT2 จะเริ่มออกมาเมื่อไหร่?
PEA – ตอนนี้กระบวนการ UGT2 ยังอยู่ระหว่างการเจรจาหารือระหว่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ 3 การไฟฟ้า ที่จะกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรม และสนับสนุนภาคเอกชนที่จะใช้พลังงานสะอาดที่เฉพาะเจาะลงแหล่งที่มาของการผลิต คาดภายในปี 2568 เสร็จแน่นอน แต่อาจจะเริ่มต้นประมาณไตรมาส 3 หรือ 4 ได้ โดยสัญญา UGT1 กำหนดระยะเวลา 1 ปี แต่ในส่วนของ UGT2 จะกำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปี

ENC – UGT2 นำไฟฟ้ามาจากไหน?
PEA – นำไฟฟ้ามาจากโครงการ Big Lots (โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 หรือ โครงการไฟฟ้าสีเขียวเฟสแรก) ที่ กกพ.กำหนดออกมา และทาง PEA ได้รับซื้อไฟฟ้าไปแล้ว โดยได้ทยอยดำเนินการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ปี 2567 แล้ว และจะทยอยเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ มีทั้งหมดประมาณ 4,800 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้าได้ลงนามและมีไฟฟ้าสีเขียวในพอร์ตไว้แล้ว โดยผู้ที่ต้องการซื้อไฟฟ้าจาก UGT2 ในอนาคต ก็จะต้องซื้อจาก PEA และ กฟน. เช่นเดิม

ไฟฟ้าสีเขียว UGT1 ได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนกันแล้วตั้งแต่ 2 ม.ค. 2568 และจะสิ้นสุดปิดรับสมัครในวันที่ 28 ก.พ. 2568 ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวและใบรับรองการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด สามารถจองซื้อกันได้แล้ว ซึ่งในรอบนี้ถือเป็นการนำร่องการจำหน่ายไฟฟ้าสีเขียวของประเทศไทย เพื่อศึกษาความต้องการใช้และแนวทางการขายไฟฟ้าสีเขียวในประเทศไทย สำหรับนำไปพัฒนาปรับปรุงและรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของประเทศต่อไป


Advertisment