สัมภาษณ์ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน : เส้นทางนโยบายรัฐสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero

1038
- Advertisment-

ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ทุกฝ่ายต่างตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยโลกให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้ โดยผู้นำของประเทศต่างๆ ได้ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ในเวทีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ประจำทุกปี และได้บรรลุข้อตกลงกำหนดเป้าหมายทั้งด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC) มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงเส้นทางการเดินหน้าของประเทศไทยสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยมีหัวใจของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีความพร้อมในสำหรับการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด และขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero

เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน ส่งเสริมภาคเกษตร หนุนแนวทางเศรษฐกิจ BCG

- Advertisment -

ศ.ดร.พิสุทธิ กล่าวว่าในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2065 นั้น กระทรวงพลังงานต้องทำเรื่องสำคัญสามเรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก Decarbonization ปรับโหมดพลังงานเป็นพลังงานสะอาดตามแผนที่ตั้งไว้ คือ เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนจาก 20% เป็น 50-70% ของพลังงานทั้งหมด เรื่องที่สอง กระทรวงพลังงานต้องจับมือกับภาคส่วนอื่น เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจากภาคเกษตร เช่น ก๊าซชีวมวล หรือ ไบโอแมส และก๊าซชีวภาพ หรือ ไบโอแก๊ส โดยเฉพาะ ไบโอแมส ถ้าบริหารจัดการได้ดี ในอนาคตจะสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชน โดยอาจจะทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือ pellet และปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาใช้เชื้อเพลิง pellet ก็ได้ และ เรื่องที่สาม กระทรวงพลังงานต้องทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในเรื่องการดักจับและกักเก็บคาร์บอน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเก็บคาร์บอนที่มีกว่า 120 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งทำให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต

นอกจากนั้น จะต้องดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน Bio-Circular-Green Economy : BCG ที่เป็นทิศทางรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ สนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาด ช่วยยกระดับประเทศในเรื่องคาร์บอน ฟรุตพริ้นท์ ทำให้นักลงทุนต่างชาติอยากย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนภาคประชาสังคม ชุมชน เศรษฐกิจฐานราก ในการกระจายโอกาสและการเติบโตในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ที่มีฐานพืชชีวภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  

บูรณาการความร่วมมือทั้งรายใหญ่และรายย่อย หนุนไทยเป็นแพลตฟอร์มด้านคาร์บอน

ไทยมีความพร้อมด้านพื้นที่ที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางตลาดคาร์บอนในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยการจะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนของเอเชียได้นั้น กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และบริษัทด้านพลังงานทั้งหลาย ต้องร่วมมือและทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกันเสริมศักยภาพการสร้างคาร์บอนเครดิตในประเทศ ทำให้มูลค่าของคาร์บอนเครดิตสูงขึ้น และช่วยกันหาตลาด โดยในอนาคต การซื้อขายคาร์บอนจะเป็นตลาดสากลมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ต้องพัฒนานวัตกรรมและสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนธุรกิจ โดยดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามา รวมไปถึงคนไทยเก่งๆ ที่อยู่ต่างประเทศให้กลับมา เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนานวัตกรรม และ ส่งเสริมให้ไทยมีพลังงานสะอาดเพื่อดึงดูดธุรกิจสีเขียวและการลงทุนระดับโลกที่เห็นความสำคัญกับพลังงานสะอาด ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ไทยเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงได้ในขณะเดียวกัน

การจัดตั้งสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน CBiS ช่วย SME กว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศเข้าถึงองค์ความรู้

เพื่อช่วยผลักดันประเทศไทยให้เดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จึงมีการจัดตั้ง สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน หรือ CBiS  ขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้มูลนิธิศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นสถาบันที่ทำงานแบบไม่แสวงหาผลกำไร และมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สำคัญกับประเทศ คือ เพื่อสนับสนุนการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศได้อย่างจริงจัง โดยบทบาท CBiS ที่สำคัญข้อแรก ที่เน้น คือ การสร้างคน ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้าง green / esg talent ให้กับประเทศผ่านการเรียนรู้ และทำงานจริงผ่านกรณีศึกษาจากภาค SMEs โดยทางสถาบันฯ จะนำความสามารถทางวิชาการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และเครือข่ายวิศวกรกว่า 2 หมื่นคนที่เป็นนิสิตเก่า และบทบาทของมูลนิธิศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ประสานพลังกับเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มด้านคาร์บอนของประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการดูแลส่งเสริมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์และคาร์บอนเครดิตต่างๆ  เพื่อให้เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงรองรับธุรกิจยุคใหม่ในอนาคต ที่มีความเสี่ยงเรื่องการกีดกันทางการค้าผ่านนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมสีเขียว เพื่อช่วยให้กิจการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้

งาน Future Energy Asia (FEA) และ Future Mobility Asia (FMA) ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2566 เปิดเวทีเชื่อมโยงความร่วมมือกับนานาประเทศ สู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero  

การที่ไทยจะเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ต้องทำประเทศให้เป็นแพลตฟอร์มด้านพลังงานของโลก และของภูมิภาค เพื่อดึงดูดการลงทุนที่เหมาะสม ทำให้เกิดความมั่นคงและเข้าถึงแหล่งเงินทุน และจะได้ทั้งผู้เชี่ยวชาญและการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีตามมาด้วย ทั้งนี้งาน Future Energy Asia และงาน Future Mobility Asia exhibition and summits จะเป็นประโยชน์มากๆ คือ เป็นตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ดี ที่จะมีระดับผู้นำ ทั้งรัฐมนตรี CEO และผู้บริหารระดับสูง ที่เดินทางมาร่วมงานและได้เห็นความพร้อมของประเทศไทยที่จะเป็นเวทีระดับโลกด้านพลังงาน  และจะเป็นตัวเชื่อมให้ไทยสามารถเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกได้อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศได้มากขึ้น

นอกจากนั้นงาน Future Energy Asia และงาน Future Mobility Asia exhibition and summits จะช่วยเชื่อมโยงบริษัทนวัตกรรมขนาดเล็กกับองค์กรขนาดใหญ่ เพราะการเดินหน้า Net Zero องค์กรขนาดใหญ่และผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกัน โดย SMEs ของประเทศไทยที่มีกว่า 3 ล้านราย จะมีบทบาทสำคัญมากๆ ต่อการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแพลตฟอร์มด้านพลังงานในอนาคต อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ศ.ดร.พิสุทธิ กล่าวปิดท้ายว่า มีความคาดหวังเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของไทย ในการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มด้านการลงทุนพลังงานสีเขียว สร้าง New S Curve ของประเทศให้ได้รับการยอมรับในระดับโลก และทำให้คนเห็นว่าไทยมีแหล่งพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง ขณะที่งานแสดงนิทรรศการด้านพลังงานที่มีผู้ประกอบการจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมแสดงด้วยนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วโลก มองเห็นศักยภาพของประเทศไทยว่าจะสามารถก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้สำเร็จ

ติดตามข้อมูลรายละเอียดงาน Future Energy Asia and Future Mobility Asia เพิ่มเติมได้ที่เวบไซต์ https://www.futureenergyasia.com และ https://www.future-mobility.asia/

Advertisment