สัมภาษณ์: ดาว เน้นย้ำการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีส่วนร่วมกับพันธมิตรด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

1983
นายเจฟ วูสเตอร์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกพิเศษ บริษัท ดาว
- Advertisment-

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเจฟ วูสเตอร์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกพิเศษ บริษัท ดาว ประจำอยู่ที่เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาประเทศไทย และได้ให้สัมภาษณ์กลุ่มสื่อมวลชนถึงทิศทางการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของบริษัทที่ยังคงเน้นย้ำเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ในการจัดการพลาสติก และความร่วมมือกับพันธมิตรตลอดห่วงโซ่ธุรกิจในการเสาะหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม และเพื่อแก้ปัญหาการกำจัดขยะพลาสติกให้เกิดประสิทธิผล

เจฟกล่าวว่าพลาสติกคือหนึ่งในวัสดุการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานง่ายและสะดวกที่สุดในปัจจุบัน แต่ก็สร้างความกังวลเรื่องขยะพลาสติกที่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นกลยุทธ์สำหรับธุรกิจพลาสติกของดาวคือ ทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้มีขยะพลาสติกเหลือล้นออกไปสู่สิ่งแวดล้อมจนต้องกำจัดโดยนำไปฝังกลบ กระทั่งมีโอกาสหลุดรอดออกไปสู่ท้องทะเลหรือที่อื่น ๆ

เดินหน้าพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

- Advertisment -

“เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องคิดค้นและพัฒนาวิธีการให้การผลิตสินค้าใหม่ด้วยพลาสติกที่ใช้แล้วง่ายขึ้น และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้สะดวกขึ้น โดยที่ต้องคำนึงว่าเราต้องหมุนเวียนการใช้พลาสติกและป้องกันการเล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อม” เจฟกล่าว

ดาว มีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องนี้ โดยตัวอย่างอันหนึ่งคือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ให้สามารถผลิตถุงพลาสติกได้จากวัตถุดิบโพลีเอทิลีนเพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้การรีไซเคิลง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับถุงที่ทำจากวัสดุพลาสติกหลายประเภท

“เราต้องสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงให้ผู้บริโภค นั่นคือผลิตภัณฑ์ของเราต้องมีความยั่งยืนด้วยการใช้วัตถุดิบที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้น เรายังต้องคิดด้วยว่า จะทำอะไรได้อีกเพื่อป้องกันการหลุดรอดของขยะพลาสติก เราจะสามารถทำบรรจุภัณฑ์ที่ผู้บริโภคจะสามารถนำไปทิ้งลงถังสำหรับการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้นได้หรือไม่ เราจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ ๆ ได้หรือไม่ หรือเราเพิ่มประโยชน์การใช้งานของพลาสติกได้อีกไหม”

ผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมของดาว

นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนให้แก่ผู้บริโภค ดาว ยังส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานธุรกิจรีไซเคิล ส่งเสริมผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ครอบคลุมไปถึงการใช้หลักการ 3Rs และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและประชาชนในการคัดแยกขยะและจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางที่ถูกวิธี เพื่อให้แน่ใจว่าคุณค่าของพลาสติกมีมากกว่าการใช้ครั้งเดียว และยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ยกตัวอย่างในประเทศไทยที่ ดาว จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและสังคมในการสร้างถนนพลาสติก โดยเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย ซึ่งถนนที่ได้จะมีอายุการใช้งานนานขึ้นและทนมากขึ้น

“นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างตลาดใหม่ ๆ ให้กับพลาสติกรีไซเคิลได้และสามารถเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติกได้ ถ้าเราสามารถเก็บรวบรวมขยะพวกนั้นมาได้” เจฟอธิบาย

ดาว จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและสังคมในการสร้างถนนพลาสติก โดยเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย

เดินหน้าได้ด้วยความร่วมมือ

เจฟกล่าวว่าหนึ่งในความสำเร็จของดาวสำหรับความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในหลายปีที่ผ่านมาคือ ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมมีความตระหนักมากขึ้นว่าความยั่งยืนสำคัญเพียงใด บริษัทหลาย ๆ แห่งมีการดำเนินงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาพลาสติกและสิ่งแวดล้อม และบางที่ก็จับมือกันเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านขยะพลาสติก

“เราพยายามผลักดันให้การแก้ปัญหาที่ท้าทายนี้บังเกิดผล โดยอาศัยความร่วมมือและทำงานร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เพื่อทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น” เจฟกล่าว

เมื่อต้นปี ดาว เป็นผู้นำในการเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรที่จะร่วมกำจัดปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม โดยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของ “พันธมิตรเพื่อหยุดปัญหาขยะพลาสติก (Alliance to End Plastic Waste – AEPW)” ที่จะใช้งบมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อคิดค้นและขยายผลวิธีการจัดการขยะพลาสติกและส่งเสริมวิธีการจัดการกับพลาสติกหลังการใช้ โดยกลุ่มพันธมิตรมีเป้าหมายที่จะระดมทุนให้ได้ถึง 1.5 พันล้านเหรียญภายใน 5 ปี ข้างหน้า

“กลุ่มพันธมิตรจะช่วยลดการหลุดรอดของขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้นวัตกรรม การให้ความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ ผู้เข้าร่วมไม่ได้มีแค่ผู้ผลิตพลาสติก แต่ยังมีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ บริษัทรีไซเคิล และเจ้าของสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจที่ตระหนักถึงความสำคัญของการทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดจากขยะพลาสติกและการนำขยะกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่” เจฟอธิบาย

โดยขณะนี้ กลุ่มพันธมิตรประกอบไปด้วยบริษัทชั้นนำของโลก 36 บริษัทจากภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง สมาชิกจะร่วมลงทุนให้มีผลในสี่ด้านนั่นคือ 1. โครงสร้างพื้นฐาน (วิธีการเก็บ จัดการขยะ และเพิ่มอัตราการรีไซเคิล) 2. นวัตกรรม (สร้างความก้าวหน้าและขยายผลให้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้การรีไซเคิลและเก็บรวบรวมพลาสติกง่ายขึ้น และสร้างมูลค่าให้พลาสติกที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว) 3. การศึกษาและการมีส่วนร่วม (ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และชุมชนเพื่อให้เกิดการลงมือทำ) และ 4. การทำความสะอาด (ในพื้นที่ที่ขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมสะสมมากที่สุด โดยเฉพาะแหล่งสะสมขยะหลัก ๆ เช่น แม่น้ำที่ทำให้ขยะจากพื้นดินเคลื่อนย้ายสู่ท้องทะเลได้)

มอบเงินช่วยเหลือและความช่วยเหลือทางเทคนิค

เจฟกล่าวว่ากลุ่มพันธมิตรมีแผนสนับสนุนและช่วยเหลือโครงการใหม่ ๆ ที่มีแนวคิดการจัดการพลาสติกที่ดี โดยจะมีการให้เงินสนับสนุนและความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับองค์กรเล็ก ๆ ในทุกประเทศและทุกภูมิภาคที่สามารถแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการป้องกันการหลุดรอดของพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม จุดประสงค์คือเพื่อช่วยองค์กรเหล่านี้ให้พัฒนารูปแบบธุรกิจและวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการกับปัญหาพลาสติก โดยผู้ที่พร้อมจัดตั้งเป็นองค์กรธุรกิจยังสามารถขอเงินกู้เพื่อนำแนวคิดไปทำธุรกิจได้เลย

นอกจากการร่วมจัดตั้ง AEPW ดาว ยังมีส่วนร่วมในโครงการการจัดการขยะพลาสติกมากมายในหลาย ๆ ภูมิภาค โดยในประเทศไทย ดาว เป็นผู้นำในโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastic โดยกลุ่ม PPP Plastic ประกอบไปด้วยหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน นักวิชาการ และองค์กรท้องถิ่น มีเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและให้ความรู้เรื่องการแยกขยะเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2570

โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastic

การสื่อสารและให้ความรู้ คือประตูสู่ความสำเร็จ

การสื่อสารกับผู้บริโภคเรื่องการเก็บ คัดแยก และนำขยะพลาสติกมาใช้ใหม่ให้ถูกวิธีคือหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ประตูที่จะทำให้การจัดการขยะมีความยั่งยืน โดยดาวร่วมกับบริษัทเจ้าของสินค้ากำลังให้ความรู้ในเรื่องการเก็บขยะและการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของพลาสติก

เจฟเล่าว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการโปรโมทการรีไซเคิลผ่านฉลาก “How-To-Recycle” ที่ติดบนผลิตภัณฑ์ ฉลากนี้ทำขึ้นมาภายใต้โครงการ Sustainable Packaging Coalition ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ GreenBlue โดยในฉลากจะมีการอธิบายวิธีรีไซเคิลและแนะผู้บริโภคให้แกะแผ่นฟิล์มหุ้มของที่ทำมาจากโพลียูริเทนและนำส่งคืนร้านขายของชำเพื่อนำมารีไซเคิล เจฟกล่าวว่าบทเรียนนี้สามารถนำมามาใช้ได้กับผู้บริโภคทุก ๆ ที่ทั่วโลก

“ความสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ของบรรจุภัณฑ์ถือเป็นเรื่องหลักที่เจ้าของแบรนด์กำลังมองหาในทุกวันนี้ เงื่อนไขการออกแบบแรกเลยคือบรรจุภัณฑ์นั้นจะเอากลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไร เพราะตอนนี้เจ้าของแบรนด์จำนวนมากมุ่งมั่นที่จะทำบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ พวกเขาต่างต้องการให้ความรู้ผู้บริโภคเรื่องการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์”

“ถ้าเราสามารถจัดการขยะ และนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้ เราก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดจากขยะพลาสติกได้” เจฟสรุป

Advertisment