สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แสดงจุดยืนให้รัฐเดินหน้าประมูลแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช เพื่อความมั่นคงพลังงานประเทศ เผยผลหารือร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานไม่เห็นด้วยกับการชะลอการประมูล ในขณะสภาพลังงานเพื่อประชาชน ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ยื่นข้อเสนอให้แก้ไข TOR จากแบ่งปันผลผลิต เป็นระบบจ้างผลิตและตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2561 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนให้ภาครัฐเดินหน้าประมูลแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชต่อไป เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงานให้กับประเทศ
นางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ สร.ปตท. กล่าวว่า สร.ปตท. ได้มายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อแสดงจุดยืนให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจในสิ่งที่จะทำให้ประเทศและประชาชนไม่เสี่ยงกับการขาดแคลนพลังงาน หรือ ตกอยู่ในภาวะที่ต้องใช้พลังงานในราคาที่สูงเกินความจำเป็น เพราะความล่าช้าจะทำให้เสียโอกาสในการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ในเวลาที่เหมาะสม จึงได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อให้เดินหน้าประมูลแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชต่อไป
“ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับภารกิจของ ปตท. และ กิจการด้านพลังงาน ซึ่งมีกลุ่มประชาชนที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการจัดตั้งและสนับสนุนพรรคการเมือง มีความพยายามนำประเด็นทางพลังงานชี้นำสังคมด้วยข้อมูลที่บิดเบือน ทั้งยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าภาครัฐ และ ปตท. รวมถึง สร.ปตท. จะพยายามอธิบายผ่านสื่อสารมวลชนและเครือข่ายต่างๆ ก็ยังคงโต้แย้งและมีประเด็นที่นำมาซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความสับสนและข้อขัดแย้งทางความคิด ลิดรอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อผู้รับผิดชอบภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อ ปตท. ดังนั้น สร.ปตท. จึงตัดสินใจนำคณะกรรมการ อนุกรรมการ และ สมาชิก สร.ปตท. ออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนในครั้งนี้”
นายพนมทวน ทองน้อย รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) กล่าวว่า สร.กฟผ.สนับสนุนให้เดินหน้าประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช โดยเห็นว่าไทยใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าสูงถึงเกือบ 70% ดังนั้นการมีก๊าซฯ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ แต่ต้องการให้การประมูลเป็นธรรม มีธรรมาภิบาล และโปร่งใส เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้า 5 ล้านตันต่อปี จากก๊าซฯในอ่าวไทย การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และนำเข้าจากประเทศเมียนมา ดังนั้นหากก๊าซฯในอ่าวไทยผลิตได้ต่อเนื่องจะสร้างหลักประกันให้การผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องด้วย
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการหารือกับผู้บริหารกระทรวงพลังงานทุกฝ่ายแล้ว ทางกระทรวงพลังงานยืนยันไม่เห็นด้วยกับการชะลอการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยต้องรับเอกสารการประกวดราคาในวันที่ 25 ก.ย. 2561 ตามขั้นตอนที่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
อย่างไรก็ตามในวันนี้(24 ก.ย. 2561) เมื่อเวลา 10.00 น สภาพลังงานเพื่อประชาชนพร้อมด้วย สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย(สรส.) ประมาณ 100 คนนัดรวมตัวกันที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีตัวแทนจากสำนักรับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาลออกมารับหนังสือ และผู้ชุมนุมจะปักหลักอยู่ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลในคืนวันที่ 24 ก.ย. 2561 ต่อไป
นายนพพร วิสุทธิศักดิ์ชัย ผู้ประสานงานสภาพลังงานเพื่อประชาชน กล่าวหลังการเดินทางไปยื่นหนังสือว่า จากการที่กระทรวงพลังงานจะเปิดซองประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณในวันที่ 25 ก.ย. 2561 ด้วยสัญญาเงื่อนไขการประมูล(TOR)ที่ประเทศไม่ได้ผลประโยชน์สูงสุด ทำให้ต้องลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย โดยในเวลาเดียวกันนี้ก็ได้มีการยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าฯทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้กลุ่มสภาพลังงานฯจะปักหลักชุมนุมไปจนถึง 25 ก.ย. 2561 นี้ ก่อนที่จะมีการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ว่ารัฐบาลจะสั่งชะลอเรื่องนี้หรือไม่
โดยข้อเรียกร้องที่สำคัญของกลุ่มสภาพลังงานเพื่อประชาชนนั้น ประกอบด้วย 2 ข้อ คือ 1.ต้องการให้กำหนด TOR แหล่งเอราวัณและบงกชให้เป็นระบบสัญญาจ้างบริการ และตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ(NOC) 2. แก้ไขโครงสร้างราคาพลังงาน ให้ลดราคาก๊าซหุงต้มลง 3 บาทต่อกิโลกรัม และลดราคาน้ำมันสำเร็จรูป 3 บาทต่อลิตร ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายก๊าซหุงต้มและน้ำมันสำเร็จรูปของประชาชนลง 1 แสนล้านบาทต่อปี