สวนผักใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง พลิกผืนดินแห้งแล้งสู่แหล่งอาหารชุมชน

104
- Advertisment-

“เคล” ราชินีแห่งผักใบเขียว หรือคะน้าใบหยิก ที่กำลังเตรียมตัดขายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เป็นภาพที่เกษตรกรบ้านโนนยาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่รกร้างและกันดารใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง ด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นดินทราย ร้อนจัด ไม่อุ้มน้ำ จึงเป็นเรื่องยากที่ปลูกพืชผลให้งอกงามได้

แต่ปัจจุบันพื้นที่กว่า 30 ไร่ ใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่บ้านโนนยางแห่งนี้กลับกลายเป็นขุมทรัพย์ทางอาหารที่ทำให้คนบ้านโนนยางอิ่มท้อง และอิ่มใจที่มีรายได้เลี้ยงตนเองเพิ่มมากขึ้น

นายวนิตย์ ตรางา ผู้ใหญ่บ้านบ้านโนนยาง กล่าวว่า ตอนแรกคิดว่าการทำเกษตรกรรมใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะพื้นที่เป็นดินทราย ดินร้อนมาก ต่อมาทาง กฟผ. ได้เข้ามาสอบถามความสมัครใจและความต้องการของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงทำประชาคมและตกลงกันว่าจะลองปลูกผักดู เพราะอยากมีรายได้หลังจากการทำนา ผักก็ได้กินเพราะเป็นผักปลอดสารพิษ ปลอดภัย เหลือก็ได้ขาย ชาวบ้านก็จะได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน สิ่งที่พวกเราได้รับ มันไม่มีใครเคยได้รับ เพราะบ้านโนนยางเป็นหมู่บ้านที่โชคดีมีสายไฟพาดผ่าน เราทำทุกวิถีทางให้ดีที่สุด เพื่อต่อไปลูกหลานกลับมาอยู่บ้านก็จะได้ขายผัก และขยายตลาดได้มากที่สุด

- Advertisment -

เนื่องจากการพัฒนาแหล่งน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาพื้นที่การเกษตรใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง กฟผ. จึงดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล โดยเข้าสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาล รวมถึงทำระบบน้ำเข้าแปลงผักให้ชุมชนบ้านโนนยาง ต่อมาจึงติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 10 กิโลวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับระบบสูบน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ พืชผักสวนครัว ผักสลัด เป็นต้น ปัจจุบัน กฟผ. ยังได้ต่อยอดนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมายกระดับการเพาะปลูกการเกษตรแบบดั้งเดิม ติดตั้งโซลาร์เซลล์ปันแสงซึ่งสามารถถอดประกอบ และเคลื่อนย้ายออกได้ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและปลูกผักสลัดใต้แผงโซลาร์เซลล์ เช่น เคล กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าพืชผักของชุมชน โดยมีแม่ค้ามารับซื้อถึงหน้าแปลงผัก ช่วยพลิกฟื้นชีวิตที่ไร้ความหวังให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

ดารุณี ตรางา วัย 66 ปี เคยเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงนานนับปี แม้จะเริ่มเดินได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถกลับไปทำงานเหมือนเดิมได้ เมื่อทาง กฟผ. มาชักชวนให้คนในชุมชนบ้านโนนยางมาร่วมกันทำการเกษตรใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้

“ตอนแรกก็ไม่อยากทำเพราะพื้นที่มีแต่ดินทราย กลัวทำไม่ได้ แต่ก็อยากลองทำดู ที่ผ่านมาก็ปลูกทั้งแตงร้าน ต้นหอม กวางตุ้ง ทำให้ครอบครัวมีผักไว้กิน และเหลือขายเฉลี่ยเดือนละ 2,000 – 3,000 บาท จากคนป่วยที่วันนี้กลับมาหาเงินได้ก็ดีใจ มีความสุข”

เช่นเดียวกับบุญชู ราญมีชัย ที่วันนี้ตัดสินใจย้ายกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด และมาร่วมทำการเกษตรใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเปิดเผยว่า วันนี้ชาวบ้านในชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากทำนาก็มาปลูกผัก ทุกคนมีรายได้เสริม มีความสุขที่ได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด

“มันมีความสุขตรงที่ว่า กลางวันเราก็มาหาผักกิน มีตลาดสดอยู่กับตัว แถมยังสามารถขาย สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย”

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ความร่วมมือและความทุ่มเทของเกษตรกรบ้านโนนยางและ กฟผ. ที่ช่วยกันพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งสู่แหล่งอาหารของชุมชนจนได้รับการขนานนามว่า “สวนผักทางไฟ” เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จที่ชี้ให้เห็นว่า พลังจากสองมือและความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผักใต้แนวเขตไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง”

Advertisment