คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนPDP2018ในการประชุมวันที่30เม.ย.2562 แล้ว เปิดทางให้มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีกกว่า56,431เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศในปี 2580 โดย เน้นเชื้อเพลิงก๊าซถึงร้อยละ53 ในขณะที่ ลดสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหิน เหลือร้อยละ 12
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC) รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งประชุมวันที่30เม.ย.2562 ได้อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 ที่เป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แล้ว หลังจากที่แผนPDP2018 ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มาตั้งแต่วันที่24 ม.ค.2562 หรือกว่า3 เดือนที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะใช้แผนPDP2018 เป็นแนวทางในการวางแผนต่างๆ แทนแผนPDP2015 ที่เป็นแผนฉบับเดิม จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้มีการระบุไว้ด้วยว่าให้มีการทบทวนแผน PDP ใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผน อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ แผนPDP2018 มีสาระสำคัญที่สรุปได้ดังนี้
-ในปี 2580 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดแผนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 77,211 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลัง ผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2580 และทดแทนโรงไฟฟ้าปลดออกจากระบบ
-ในส่วนของการสร้างโรงไฟฟ้าหลัก ที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลโรงใหม่ มีการลดปริมาณเชื้อเพลิงถ่านหินลงจากแผน PDP ฉบับเดิม (PDP2015) เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สอดคล้องกับข้อตกลงของ COP21 และลดความ ขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ โดยการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติ ที่มีราคาลดลงมาก ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าของประเทศอยู่ในระดับเหมาะสม สามารถแข่งขันได้
-สัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็นร้อยละ 65 ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 53 และ ถ่านหินลิกไนต์ ร้อยละ 12 ที่เหลือเป็นสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล ร้อยละ 35 ประกอบด้วย พลังน้ำต่างประเทศ ร้อยละ 9 พลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 20และการอนุรักษ์พลังงาน ร้อยละ 6
-มีการจัดสรรโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยเป็นโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ได้แก่ ขยะ ชุมชน โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 520 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงาน หมุนเวียนตามแผน AEDP รวมกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 18,176 เมกะวัตต์
– มีการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี รวม 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มดำเนิน โครงการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป
-ให้มีการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของ ระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid connection) ในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกับ ระบบจำหน่าย เพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต (Grid Modernization) ต่อไป