สรุปผลดำเนินงานปี 2564 ของ 6 คณะทำงานโครงการ OUR Khung BangKachao (คุ้งบางกะเจ้า) และอนุมัติแผนการดำเนินงานปี 2565 มุ่งพัฒนา 6 มิติ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และอนุรักษ์วิถีท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน พร้อมชูพื้นที่ “จุดเรียนรู้ต้นแบบ” 6 ตำบล ถ่ายทอดผลลัพธ์การสานพลังร่วมรักษา “คุ้งบางกะเจ้า” แบบบูรณาการทุกภาคส่วน ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2565 รับฟังสรุปผลดำเนินงานปี 2564 ของ 6 คณะทำงานที่ร่วมพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ในโครงการ OUR Khung BangKachao พร้อมทั้งพิจารณาอนุมัติแผนดำเนินงานในปี 2565 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาให้คุ้งบางกะเจ้าเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนแบบสานพลังความร่วมมือ (Social Collaboration With Collective Impact) จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และชุมชน รวมกว่า 100 องค์กร สำหรับปี 2565 งานสำคัญที่พัฒนาต่อเนื่องทั้ง 6 ด้าน มีดังนี้
ด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว นำโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เดินหน้ารักษาพื้นที่สีเขียวต่อเนื่องในพื้นที่ราชพัสดุ 1,200 ไร่ และพื้นที่ส่วนบุคคล โดยคัดเลือกพื้นที่ “ครัวเรือนอาสาพัฒนาพื้นที่สีเขียว” นำร่อง 25 จุดใน 6 ตำบล เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่เกษตรและบุคคลในด้านต่างๆ อาทิ การทำเกษตรปลอดภัย ส่งเสริมองค์ความรู้ เทคโนโลยีการเกษตรตามความต้องการตามความเหมาะสมของพื้นที่ การสื่อสารถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเป็นต้นแบบการรักษาพื้นที่สีเขียวยั่งยืน เป็นจุดแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ ขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ตามเป้าหมายต่อไป ด้านการจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง นำโดย มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชนในการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ การใช้เทคโนโลยีสำรวจและเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ ส่งเสริมการเรียนรู้การจัดทำและติดตั้งถังดักไขมันให้กับชุมชนริมคลองเพื่อป้องกันการเน่าเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บและไหลเวียนน้ำภายในสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ (ระยะที่ 2) แก้ไขระบบน้ำในสวนเกษตรผสมผสาน 3 พื้นที่ โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการจัดการขยะ นำโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายลดปริมาณขยะ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้จัดการขยะ สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะครบวงจร รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านการจัดการขยะครบวงจร วางแผนขยายการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมไปยังวัด โรงเรียน และแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาอาคารศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะแบบครบวงจรด้วยนิทรรศการออนไลน์และดิจิตอล
รวมทั้งจัดสร้างอาคารสาธิตการแปรรูปขยะอินทรีย์ในวัดจากแดงอีกด้วย ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นำโดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) มุ่งยกระดับคุ้งบางกะเจ้าสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากลให้สอดคล้องกับเกณฑ์ GSTC-D พร้อมผลักดันให้คุ้งบางกะเจ้าประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม พัฒนาศักยภาพชุมชนตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของไทยและพัฒนานักสื่อความหมาย รวมถึงมีแผนจัดทำโครงการ “คิดถึงชุมชน” เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย ด้านส่งเสริมอาชีพ นำโดย บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ชุมชนจากการพัฒนาอาชีพบูรณาการการทำงานกับคณะทำงานต่างๆ โดยมีแผนพัฒนาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรสีเขียว กลุ่มอาชีพที่มีส่วนในการดูแลน้ำ กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์คุ้งบางกะเจ้า กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากการกำจัดขยะ และกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์จากนักเรียน นอกจากนี้ยังวางแผนพัฒนาตลาดสีเขียวแสดงวิถีชีวิตและความโดดเด่นของทุกตำบลคุ้งบางกะเจ้ารวมไว้ในที่เดียวเพื่อส่งเสริมเป็นจุดรับนักท่องเที่ยวต่อไป และด้านการพัฒนาเยาวชน การศึกษา และวัฒนธรรม นำโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีแผนส่งเสริมการสร้างทักษะชีวิตเยาวชนในการดูแลตนเองได้และมีภูมิคุ้มกันที่ดี เช่น ทักษะการทำอาหารเบื้องต้น การทำความสะอาดเครื่องแต่งกาย การทำความสะอาดบ้านและการออมเงิน นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมทักษะอาชีพเยาวชนในด้านหัตถกรรม งานช่าง งานบริการ การปลูกผักสวนครัว และการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ ช่างคาว ช่างหวาน รวมถึงปลูกฝังค่านิยมการเป็นคนดี มีมารยาทและกตัญญู รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกด้วย
โครงการ OUR Khung BangKachao นับเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศไทยในการสานพลังร่วมรักษา “คุ้งบางกะเจ้า” ให้คงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและอัตลักษณ์ของพื้นที่ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศอย่างยั่งยืน
–