สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้เทรนด์รถสันดาปเริ่มหดตัว EV โตแทน ยอดจำหน่ายทั่วโลกปี 2565 เพิ่ม 60%

964
- Advertisment-

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ร่วมเปิดเวทีสัมมนา “ยานยนต์ไฟฟ้าและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต”  ชี้เทรนด์การใช้รถยนต์สันดาปภายในลดลง ขณะที่ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เติบโตสูงในอนาคต โดยรถ 1 ใน 7 คันบนถนนจะเป็นรถ EV ขณะยอดจำหน่าย EV ทั่วโลกปี 2565 เพิ่มถึง 60% ด้าน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ยืนยันพร้อมร่วมให้ความรู้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หวังให้อุตสาหกรรมรถ EV เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2566  สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และผู้จัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44  จัดเสวนา “ยานยนต์ไฟฟ้าและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต”  ณ  ศูนย์เเสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  โดยมี นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจการไฟฟ้านครหลวง, นายกฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด และผู้บริหารองค์กรต่างๆ เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มุ่งพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) โดยมีความร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป โดยภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี ค.ศ. 2022 อยู่ที่ราว 10.6 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 60% ถ้าเทียบกับปี ค.ศ. 2021 ในส่วนของรถยนต์สันดาปภายในทั่วโลกอยู่ที่ 63.2 ล้านคัน หากเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายใน ปี ค.ศ. 2017 อยู่ที่ 85 ล้านคัน  ฉะนั้นจะเห็นเทรนด์การใช้รถยนต์สันดาปภายในลดลง และหากดูจากสัดส่วนของปี ค.ศ. 2021 พบว่ามีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1 ใน 7 คัน คือรถยนต์ไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่เเล้ว 

- Advertisment -
คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

ดังนั้นทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงมุ่งที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนด้วยรถยนต์พลังงานสะอาด โดยมีกรรมการและสมาชิกของสมาคมมาร่วมทำงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในด้านการศึกษา การสนับสนุนด้านความรู้แก่ผู้บริโภค และการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจและบริการ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) กล่าวว่า MEA พร้อมขับเคลื่อนตามแผนงานด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งได้มีการออกแบบระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาการเกิด Overload ของระบบจำหน่าย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ในช่วงกลางวันเพื่อนำไปใช้ชาร์จ EV ในช่วงหัวค่ำที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง รวมถึงการติดตั้งสถานีชาร์จ EV เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมกับการสร้าง MEA EV Application เพื่อให้บริการประชาชนด้วย

คุณจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจและบริการ การไฟฟ้านครหลวง

นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งนับว่ายังมีความท้าทายอย่างมาก เพราะการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกๆภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันใช้พลังงานสะอาด ทั้งในภาคการผลิตและการคมนาคม ขนส่ง ซึ่งการจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวเพิ่มขึ้นของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ที่มาเข้าร่วมงาน ดังนั้นเชื่อว่าการให้ความรู้ด้านโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในพันธกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และเพื่อสร้างโอกาสในด้านธุรกิจใหม่ๆด้วย  

นายกฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด กล่าวว่า ฮ้อปคาร์ เป็นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตวิถีคนเมืองในปัจจุบัน ทำให้การลงทุนซื้อรถยนต์ไม่เป็นเพียงเพื่อใช้งานเอง แต่ยังเป็นการลงทุนในธุรกิจคาร์แชร์ริ่ง (Car Sharing) ได้อีกด้วย  ซึ่งจากงานวิจัย คาร์แชร์ริ่ง (Car Sharing) หนึ่งคัน จะสามารถช่วยลดจำนวนรถในพื้นที่นั้นๆ ลงได้ 6-10 คัน พื้นที่ที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ เช่น ช่องทางจักรยาน พื้นที่ทางเท้า เป็นต้น  ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มของเรา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยลูกค้าส่วนใหญ่สนใจเช่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดลองใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเพื่อให้แน่ใจว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมเมือง ทำให้อัตราการเช่ารถยนต์ระบบไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายพูนพัฒน์ โลหารชุน  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสถานีอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทยมีประมาณ 3,000 กว่าหัวจ่าย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า ที่จดทะเบียนเมื่อสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนกว่า 32,000 คัน เท่ากับว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้าคิดเป็น 10% ของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ จากงานวิจัยในประเทศไทยเผยว่า บ้านเรือน คอนโด อาคารสำนักงาน เหมาะที่จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีจำนวน 10% ถือว่าเพียงพอ เเต่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2565 นี้อาจจะแตะหลัก 5 หมื่นคัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นโอกาสในการขยายตัวของสถานีชาร์จไฟฟ้าในอนาคตที่จะต้องขยายตัวตามจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกัน

นายสุรเดช พานิช ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล บริษัท ซันเดย์ อินส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทซันเดย์ อินส์ ได้นำเทคโนโลยีและการประกันมารวมกันเพื่อยกระดับการให้บริการรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกันและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประกันทั่วไปราคาเบี้ยประกันจะถูกหารจากความเสี่ยงของทุกคน แต่ที่ซันเดย์เราให้ AI เข้ามาคำนวณเบี้ยประกันโดยราคาเบี้ยของแต่ละคนจะถูกออกแบบตามความเสี่ยงของแต่ละคน โดยในปัจจุบันซันเดย์รองรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 2 แบรนด์ ได้แก่ MG และ ORA ซึ่งในอนาคตเรามีแผนที่จะขยายการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าอีกมากมายนายปริญ กัญจนาทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซินเนอร์ยี่ซัน จำกัด  กล่าวว่า เมื่อมีรถไฟฟ้ามากขึ้นภาครัฐก็ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้ามากขึ้นตาม ดังนั้นภาคประชาชนสามารถช่วยกันแบ่งเบาภาระนี้ได้โดยการติดตั้ง Solar Rooftop และ สิ่งที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์มักจะคอยเฝ้าดูเสมอว่าวันนี้บ้านตนใช้พลังงานเท่าไหร่ โซลาร์เซลล์วันนี้ผลิตได้เพียงพอหรือไม่ จนเกิดพฤติกรรมอนุรักษ์และบริหารจัดการพลังงานของตัวเองด้วย โดยปัจจุบันยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทุกประเภทมีจำนวน กว่า 36,775 คัน และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Advertisment