“สมคิด”เร่งกฟผ.นำเข้าLNG ช่วงบาทแข็ง

636
- Advertisment-

รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แนะกฟผ.เร่งนำเข้า LNG ช่วงเงินบาทแข็งค่า โดยคาดว่าในช่วงกลางปีจะเริ่มทะยอยมีการนำเข้าในแบบSpot เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากราคายังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวกับปตท. ยังอยู่ในขั้นตอนการส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบเอกสาร  โดยย้ำว่า การนำเข้าLNG ของกฟผ.จะไม่ทำให้ปตท.มีปัญหาเรื่องภาระ take or pay ในสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวกับซัพพลายเออร์อื่นที่ได้มีการลงนามกันไปแล้ว

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกฟผ. พร้อมมอบนโยบายแก่ฝ่ายบริหาร โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ดกฟผ. นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)  นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการกฟผ. ให้การต้อนรับ

โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทางนายสมคิดได้มอบเป็นนโยบาย ในที่ประชุมกับฝ่ายบริหารของ กฟผ.คือการเร่งรัดให้กฟผ. ใช้จังหวะช่วงเงินบาทแข็งค่า นำเข้า LNG เข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าหลักของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชนปรับลดลง

- Advertisment -

นาย ธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.มีประสบการณ์ในการนำเข้าLNG แบบ Spot แล้ว โดยคาร์โก้แรก จัดส่งแล้วเมื่อวันที่ 28ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมาในปริมาณ 65,000 ตัน ในขณะที่ คาร์โก้ที่สอง อีก 65,000 ตัน จะส่งมอบในเดือนเมษายน 2563 นี้ หลังจากนั้น กฟผ.คงจะมีการพิจารณานำเข้าในรูปแบบ spot ในคาร์โก้ ต่อๆไปอีก เนื่องจาก ราคาLNG แบบSpot ยังมีราคาต่ำ และมีข้อดีคือ เมื่อระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น สามารถที่จะหยุดซื้อได้ ในขณะที่หาก กฟผ.เลือกนำเข้าในรูปแบบสัญญาระยะกลางหรือระยะยาว ในช่วงนี้ หากราคาLNG เพิ่มสูงขึ้น ก็จะต้องนำเข้ามาตามสัญญา   ทั้งนี้การจัดซื้อจะพิจารณาถึงความต้องการใช้ในแต่ละเดือน ซึ่งมีปริมาณที่แตกต่างกัน  โดยหากเดือนใดมีความต้องการใช้มากกว่าสัญญาที่ทำไว้กับปตท. กฟผ. ก็จะนำเข้าLNG ในปริมาณส่วนที่เกิน แต่เดือนใดที่มีความต้องการใช้น้อย ก็จะเป็นการรับก๊าซจากปตท.

นายธวัชชัย  ยังกล่าวถึง สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวหรือ Global DCQ ฉบับใหม่ กับ ปตท. เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าหลักของกฟผ.เพื่อความมั่นคงว่า อยู่ระหว่างการส่งร่างสัญญาให้ ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบความถูกต้อง โดยในส่วนของปริมาณการรับซื้อว่าจะเป็นเท่าไหร่ นั้น ยังต้องมีการเจรจากับ ปตท.เพื่อกำหนดให้ชัดเจนอีกครั้ง   โดยในหลักการที่ตกลงกันได้แล้ว คือ ระยะเวลาในสัญญาจะลดลงเหลือ 10 ปี และช่วง 5 ปีแรกของสัญญา จะกำหนดปริมาณรับซื้อตายตัว แต่ในช่วง 5 ปีหลังของสัญญา กฟผ.สามารถที่จะปรับลดหรือเพิ่มปริมาณได้ตามความต้องการใช้ของโรงไฟฟ้า  นอกจากนี้ สัญญา Global DCQ จะครอบคลุมเฉพาะโรงไฟฟ้าหลักของกฟผ.ในภาคกลาง ภาคตะวันออก โดยไม่รวมถึงโรงไฟฟ้าน้ำพอง หรือ โรงไฟฟ้าสุราษฎรานีโรงใหม่ ชุดที่1และ2

ทั้งนี้นายธวัชชัย อธิบายว่า  การที่จะต้องทำสัญญาซื้อขายระยะยาว กับปตท. นั้น กฟผ.จะต้องคาดการณ์ตัวเลขปริมาณความต้องการใช้ของกฟผ.ในอนาคต โดยจะต้องคำนึงถึงตัวแปรจากนโยบายของรัฐบาล ทั้ง โรงไฟฟ้าชุมชน และโซลาร์รูฟท็อป และการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติด้วย โดยหากมีผู้ให้ความสนใจลงทุนกันมาก ความต้องการที่ กฟผ.จะใช้ก๊าซจากปตท.ก็จะลดลง ดังนั้น กฟผ.จึงจำเป็นต้องมี วอลลุ่มของตัวเอง เพื่อส่งเสริมนโยบายของภาครัฐ  โดยหวังว่าค่าไฟฟ้าจะลดลง

อย่างไรก็ตาม นายธวัชชัย กล่าวว่า การนำเข้าLNG ของกฟผ. จะไม่กระทบต่อสัญญาระยะยาวที่ปตท.มีการลงนามไว้แล้ว ทั้งในส่วนของ LNG นำเข้า 5.2 ล้านตัน สัญญาซื้อก๊าซในอ่าวไทย และ สัญญาซื้อก๊าซจากเมียนมา  ที่จะทำให้ ปตท.มีปัญหาภาระtake or pay

สำหรับการประมูลLNG ในปริมาณ1.5 ล้านตันต่อปี ระยะเวลาสัญญา 8 ปี ที่กฟผ.ดำเนินการไปเมื่อปี2562 ที่ผ่านมา และได้ปิโตรนาส แอลเอ็นจี เป็นผู้ชนะการประมูลนั้น  นายธวัชชัย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ กฟผ.ยังไม่ได้มีการทำหนังสืออย่างเป็นทางการ เพื่อแจ้งยกเลิกผลการประมูล ให้กับทาง ปิโตรนาสฯ แต่อย่างใด  โดยให้เหตุผลว่า มติกพช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ไม่ได้ระบุให้ กฟผ.ต้องแจ้งยกเลิกผลการประมูลดังกล่าว

Advertisment