“สมคิด”สั่ง กฟผ.หาแนวทางลดค่าไฟช่วยSME และผู้มีรายได้น้อย

586
- Advertisment-

รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  สั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หาแนวทางลดราคาค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50หน่วยต่อเดือนและถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้ง กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ให้แตกต่างจากอัตราค่าไฟฟ้าทั่วไป  พร้อมแนะเร่งลงทุนช่วงเงินบาทแข็งค่า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เมื่อวันที่ 9ม.ค.2563 ว่า ได้มอบหมายให้ กฟผ.ดำเนินการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ให้แตกต่างจากอัตราค่าไฟฟ้าทั่วไป เพื่อช่วยเหลือคนไทยกลุ่มดังกล่าวให้มากขึ้น  รวมทั้งเชื่อว่า กฟผ.จะพยายามรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับปัจจุบันได้และไม่จำเป็นต้องปรับขึ้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเร่งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยและSME โดยจะเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่ถูกลง และแยกจากอัตราค่าไฟฟ้าทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยอาจใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นฐานสำหรับระบุว่าใครเป็นผู้มีรายได้น้อย ส่วนจะใช้วิธีการใดจะต้องหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน

- Advertisment -

สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 50 หน่วยต่อเดือน ที่ปัจจุบันยังได้รับการช่วยเหลือให้ใช้ไฟฟ้าฟรีอยู่นั้น จะมีการพิจารณาให้การช่วยเหลือที่มากขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ในวันที่ 10 ม.ค. 2563 กระทรวงพลังงานจะหารือเชิงลึกร่วมกับ กฟผ.และ กลุ่ม ปตท.เพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่าให้เป็นประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ในวันเดียวกันจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.)เพื่อติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านและกำหนดมาตรการรับมือความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในช่วงต่างๆ

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.จะใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่าให้เกิดประโยชน์ โดยในปี 2563 จะเร่งลงทุนโครงการของปี 2564 ขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว เช่น โครงการสายส่งไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

ส่วนโครงการสร้างโรงไฟฟ้า 8 โรง รวม 5,400 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018 ที่ กฟผ.เตรียมเสนอ ครม.พิจารณานั้น จะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท  โดยตามแผนจะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568-2572

Advertisment