สนพ.เปิดไทม์ไลน์เวทีรับฟังความเห็นแผน PDP 2024 และแผนก๊าซ ระหว่าง 12-13 มิ.ย. 2567 ชี้ค่าไฟไม่เกิน 4 บาทต่อหน่วย

1791
- Advertisment-

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดไทม์ไลน์ ตั้งเวทีรับฟังความเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ( PDP 2024 ) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ( Gas Plan) 12-13 มิ.ย. 2567 และรับฟังความเห็นผ่านออนไลน์ 17 และ 19 มิ.ย. 2567 เผยปรับเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็น 51% โดยมีโซลาร์เซลล์มากที่สุดถึง 2 หมื่นเมกะวัตต์  ชี้ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4 บาทต่อหน่วย

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานกำหนดเปิดรับฟังความเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ( PDP 2024 ) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ( Gas Plan) โดยจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นในวันที่ 12 มิ.ย. 2567  สำหรับภาครัฐและสื่อมวลชน  และวันที่ 13 มิ.ย. 2567 สำหรับเอกชนและผู้ประกอบการในเขต กทม. และปริมณฑล

นอกจากนี้จะเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ของเว็บไซต์ www.eppo.go.th และเฟสบุ๊ค EPPO Thailand ในวันที่ 17 มิ.ย. 2567 สำหรับภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และวันที่ 19 มิ.ย. 2567 สำหรับภาคใต้และภาคเหนือ

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 จะเปิดรับฟังความเห็นแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ( AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil plan) จะเปิดรับฟังความเห็นปลายเดือน มิ.ย. 2567

โดยจะนำความเห็นทั้งหมดมาปรับปรุงในแต่ละแผน และนำมารวมกันอยู่ภายใต้แผนหลักคือ แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ,คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ คาดว่าแผนทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2567 นี้

สำหรับแผน PDP 2024 ดังกล่าว เบื้องต้นคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงปลายแผนในปี 2580 จะสูงถึง 5.5 – 5.6 หมื่นเมกะวัตต์ จากในแผนเดิมที่ 3.6 หมื่นเมกะวัตต์  ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าใหม่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยจะพิจารณาเป็นรายภาค โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคเหนือ ที่ยังมีไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้  ซึ่งการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ในปี 2573 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593

ทั้งนี้จะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นสัดส่วน 51% จากแผนเดิม 36% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีมากที่สุดถึง 30% ของพลังงานทดแทนทั้งหมด หรือประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์

นอกจากนี้จะมีการกำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ และการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมร่วมกับก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วน 5% ของการใช้ก๊าซฯ ไว้ในแผนด้วย

ส่วนการกำหนดสำรองไฟฟ้าของประเทศจะใช้เกณฑ์โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือ 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง มาแทนเกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)

โดยแผน PDP 2024 นี้ จะพยายามรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย  จากแผนPDP เดิม ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย  ทั้งนี้เนื่องจากมีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย

สำหรับแผนก๊าซธรรมชาตินั้น เบื้องต้นคาดว่าปริมาณการใช้ก๊าซฯ จะไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากการใช้ก๊าซฯ สำหรับผลิตไฟฟ้าจะลดลง ซึ่งเกิดจากการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น และการใช้ก๊าซฯ สำหรับยานยนต์ (NGV) ก็จะลดลง ขณะที่การใช้ก๊าซฯ ภาคอุตสาหกรรมจะมากขึ้น เนื่องจากก๊าซฯ ยังถือเป็นพลังงานสะอาดที่ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ส่วนโรงแยกก๊าซฯ ยังใช้ก๊าซฯ เท่าเดิม เนื่องจากไม่มีโรงใหม่เกิดขึ้น ประกอบกับปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยก็มีแนวโน้มลดลง 

อย่างไรก็ตามจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG) มาทดแทนความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่มากขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ไม่มีการนำแผนการผลิตไฟฟ้าจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) มาประกอบในแผน  PDP 2024  เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า การเจรจานำก๊าซฯ ในพื้นที่ทับซ้อนกับต่างประเทศมาใช้ จะต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี ถึงจะได้ใช้จริง แต่ในอนาคตถ้าการเจรจาประสบความสำเร็จเร็วกว่า 10 ปี และสามารถนำก๊าซฯ มาใช้ได้จริง ก็สามารถปรับแผนการนำเข้า LNG ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้

Advertisment