ชงGas Plan2018ให้ “สนธิรัตน์ ” อนุมัติสร้างคลังLNG5ล้านตันต่อปีที่สุราษฏร์ฯ

1665
- Advertisment-

สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580(Gas Plan2018) ต่อรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่สัปดาห์หน้า  หลัง กบง.ยุค” ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรี รับทราบ ร่างแผนก๊าซไปเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562  โดยพบว่าการใช้ก๊าซฯตั้งแต่ปี 2561-2580 เฉลี่ยเพิ่มแค่ 0.8%ต่อปี และไทยต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นจากสัญญาระยะยาวที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ปี 2564
โดยจะต้องมีการ สร้างคลังLNG ลอยน้ำ(FSRU) ป้อน LNG ให้โรงไฟฟ้าจะนะตั้งแต่ปี 2565 รวมทั้งสร้างคลัง LNG ที่สุราษฎร์ธานีขนาด 5 ล้านตันต่อปี รองรับโรงไฟฟ้าขนอม,สุราษฎร์ธานี ตามแผน PDP 2018 

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เตรียมรายงานแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580 (Gas Plan 2018) ต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสัปดาห์หน้า ก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

โดยมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ในช่วงที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ยังเป็นรัฐมนตรีพลังงานและประธาน กบง. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ได้รับทราบแนวทางการจัดทำแผนGas Plan 2018 แล้ว จากนั้นได้มอบหมายให้ สนพ.  จัดรับฟังความคิดเห็น และนำเสนอ กบง.ในครั้งต่อไป  แต่ ทางสนพ. เห็นว่า ควรนำร่างดังกล่าว เสนอต่อ นายสนธิรัตน์ รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ได้รับทราบก่อน

- Advertisment -

สำหรับสาระสำคัญของ Gas Plan 2018 ระบุ ได้ดังนี้  1. การจัดทำแผน Gas Plan ได้พยากรณ์ความต้องการใช้ก๊าซฯ แบบรายภาคเศรษฐกิจ รวมถึงพิจารณาตามความต้องการใช้ก๊าซฯตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ,แนวโน้มทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ,แนวโน้มการใช้ก๊าซธรมชาติสำหรับยานยนต์( NGV) และปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จัดหาได้ในอ่าวไทย
โดยแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศในช่วงปี 2561 – 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.8% ต่อปี จากภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 1.4% และ 3.1% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งและการใช้ในโรงแยกก๊าซมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 6.2% และ 3.1% ต่อปี ตามลำดับ

2. การจัดหาก๊าซฯ ประกอบด้วย ก๊าซฯในประเทศ (อ่าวไทยและพื้นที่บนบก) ,ก๊าซฯจากประเทศเมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG) (ได้แก่ สัญญาปัจจุบัน สัญญาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และที่ต้องจัดหาเพิ่ม)
โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการพยากรณ์ความต้องการใช้ก๊าซฯพบว่าตั้งแต่ปี 2561 – 2563 การจัดหาก๊าซฯตามสัญญาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังเพียงพอสำหรับความต้องการ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 จำเป็นต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ของประเทศ
ในส่วนการบริหารจัดการก๊าซฯในอ่าวไทย สำหรับนำเข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ (GSP) เพื่อแยกเอา Feedstock มาใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด พบว่าจากศักยภาพของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (GSP Capacity) ในส่วนที่ไม่รวมโรงแยกก๊าซขนอม ที่ระดับ Capacity 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต จำเป็นจะต้องมีคลังรับLNG( LNG Terminal) ในพื้นที่ภาคใต้ ในปี 2565

3. ความต้องการใช้และการจัดหาก๊าซฯ  ได้แก่ (1) ในพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามีความจำเป็นต้องจัดหาก๊าซฯเพื่อรองรับความต้องการในพื้นที่ แบ่งเป็น การจัดหาก๊าซฯสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ มีแนวทางการดำเนินการ โดยเร่งรัดการเจรจาซื้อก๊าซฯจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย( JDA) หรือ จัดตั้งหรือก่อสร้างสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่เพื่อรองรับการนำเข้า LNG เป็นทางเลือก ในปี 2565 และการจัดหาก๊าซฯสำหรับโรงไฟฟ้าขนอม ,โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 มีความจำเป็นต้องจัดหา LNG Terminal สุราษฎร์ธานี (5 ล้านตันต่อปี ) ในปี 2565
(2) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าการจัดหาจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2572 โดยจำเป็นต้องเตรียมการสำรวจและผลิต หรือจัดหาเพิ่มเติมผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติใหม่จากจังหวัดนครราชสีมาไปยังโรงไฟฟ้าน้ำพองและโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018
และ (3) การจัดหาก๊าซธรรมชาติผ่านโครงข่ายท่อบนบก พบว่าการจัดหาจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซฯของภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมต่อไป

Advertisment