สนพ.ระบุราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากนโยบายคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปหยุดการนำเข้า โดย น้ำมันดิบจากอิหร่านที่ส่งเข้าตลาดมีปริมาณลดลงถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจาก 3.1 ล้านบาร์เรลในเดือนเมษายน เหลือ 2.1 ล้านบาร์เรลในเดือนสิงหาคม
นาย ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคมผ่านมา ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นถึง 2.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 74.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเวสต์เท๊กซัสที่ปรับขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และยังพบว่าอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง มาจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐสิ้นสุดวันที่ 24 สิงหาคม ปรับตัวลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับลดลงเพียง 0.9 ล้านบาร์เรล และคาดว่าในการประกาศปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในสัปดาห์หน้า ปริมาณคงจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่น้ำมันดิบของอิหร่านก็เข้าสู่ตลาดลดลง จากมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของรัฐบาล สหรัฐฯ โดยในเดือนสิงหาคมปริมาณน้ำมันดิบเข้าตลาดลดลงถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจาก 3.1 ล้านบาร์เรลในเดือนเมษายน เหลือ 2.1 ล้านบาร์เรล หลังจากเกาหลีใต้หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านและญี่ปุ่นวางแผนจะหยุดการนำเข้าจากอิหร่านเช่นกันในเดือนหน้า ขณะที่ยุโรปได้ลดการนำเข้าลงกว่า 10 ล้านบาร์เรลในเดือนสิงหาคม
ส่วนการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจากอุบัติเหตุแถวท่าเรือขนส่ง น้ำมันหลักของประเทศ ล่าสุดคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาจะปรับลดลงจาก 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือ 1ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่หรือโอเปกจะหารือกันเพื่อหาแนวทางเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบชดเชยในส่วนของอิหร่านซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้
ส่วนสถานการณ์ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 86.63 ดอลล่าร์สหรัฐ และ 84.36 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.04ดอลล่าร์สหรัฐ และ 2.18ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบ มาจากแรงซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอินโดนีเซียและผลจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของสิงคโปร์ที่ปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลที่สัปดาห์นี้ปรับเพิ่มขึ้นถึง 2.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลสัปดาห์นี้ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 91.02 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังคงตึงตัวอย่างต่อเนื่อง และประเมินว่าอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังคงตึงตัวต่อเนื่อง แต่ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์จึงทำให้ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทยปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำน้ำมันแก๊สโซฮอล์ขึ้น 40 สตางค์ต่อลิตร และปรับขึ้นน้ำมันอี 20 อีก 40 สตางค์ต่อลิตรและน้ำมันอี 85 อีก 20 สตางค์ต่อลิตร
ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.29 สตางค์ต่อลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.48 สตางค์ต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.88 บาท/ลิตร และค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.11 บาท/ลิตร ค่าการตลาดของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10 อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 1.88 บาท/ลิตร และค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 2.11 บาท/ลิตร
ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 สิงหาคม มีสินทรัพย์รวม 38,745 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 12,546 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 26,199 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 29,354 ล้านบาท และบัญชี LPG -3,155 ล้านบาท