“สนธิรัตน์” เร่งโซลาร์ภาคประชาชนต้นแบบภายใน60 วัน

3375
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเตรียมตั้งคณะทำงานร่วมภาคประชาชนผลักดันโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ภายใน 60 วันนับจากนี้ ด้าน คปพ. แนะควรใช้ระบบ  Net Metering ในการซื้อขายไฟฟ้า และราคาควรจูงใจใกล้เคียงกับที่ กฟผ.ขายส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเกือบ 3 บาทต่อหน่วย

วันนี้ ( 29 มิ.ย. 2563 ) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการโซล่าร์ภาคประชาชน รูปแบบใหม่ โดยมีตัวแทนจาก เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.)เป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม อาทิ นางสาวรสนา โตสิตระกูล และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและภาคประชาชนในเร็วๆนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 50 เมกะวัตต์ ภายใน 60 วัน (นับตั้งแต่ 29 มิ.ย. 2563) โดยคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นจะเข้ามาพิจารณาปัญหา อุปสรรค การติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชน รวมถึงราคารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

- Advertisment -

ทั้งนี้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ( PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 30 มิ.ย. 2563 นี้ ได้บรรจุให้จัดทำโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 50 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี (2563-2567) ลดลงจากแผน PDP2018 เดิม ที่บรรจุให้ดำเนินการ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี

ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องปรับลดปริมาณการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาในปี 2562 มีประชาชนเข้าร่วมโครงการน้อยมากเพียง 1.8 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ต่อปี  เนื่องจากติดปัญหาหลายประการ เช่น ราคาที่ภาครัฐรับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วย ไม่จูงใจประชาชนให้เข้าร่วมโครงการ , ความยุ่งยากในการดำเนินการ และไม่มีเงินทุนสนับสนุน

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานระหว่างรัฐและเอกชนดังกล่าวในเร็วๆนี้ต่อไป

ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้หารือเบื้องต้นว่าระบบการซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนควรเป็นระบบ Net Metering หรือ ระบบหักลบ กลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เอง เช่น เมื่อหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตและใช้แล้ว จึงนำไฟฟ้าส่วนที่เหลือขายเข้าระบบไฟฟ้าได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการซื้อขายไฟฟ้าของประชาชนในโครงการดังกล่าวได้  แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถใช้ระบบ Net Metering ได้เนื่องจากติดปัญหาการคำนวณภาษี ซึ่งต้องไปหารือกับกรมสรรพากร

นอกจากนี้คณะทำงานชุดที่จะตั้งขึ้นจะมีการพิจารณาด้านราคารับซื้อไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปด้วย โดยเห็นว่ารัฐไม่จำเป็นต้องให้เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder) แต่ราคาควรจูงใจ ซึ่งอาจเท่ากับหรือต่ำกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ขายส่งไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในอัตราเกือบ 3 บาทต่อหน่วย เป็นต้น นอกจากนี้จะพิจารณาว่าปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ อาจจะเพิ่มขึ้นได้หากความต้องการในอนาคตสูงขึ้น เป็นต้น

Advertisment