“สนธิรัตน์” ยื่นลาออกรัฐมนตรีพลังงาน หลายงานค้างท่อ รอคนใหม่ สานต่อ ทบทวน หรือยกเลิก

2247
- Advertisment-

” สนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  ” ยื่นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว ทำให้มีงานนโยบายที่สำคัญหลายเรื่อง ที่ยังทำค้างไว้ เช่น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ , นโยบายการนำเข้า LNG และการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ,การเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ รอบที่ 23 ,นโยบายการทดลองนำเทคโนโลยีBlockchian มาใช้ในการซื้อขายน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล ซึ่งต้องรอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ มาพิจารณาว่า จะสานต่อ ทบทวน ชะลอออกไป หรือยกเลิก

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า หลังจากที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2563 แล้วนั้น ในวันที่ 16 ก.ค. 2563 นายสนธิรัตน์ ก็ได้เดินทางมายื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี  โดยในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ค. 2563 ) เวลา 09:30น. นายสนธิรัตน์จะมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานและแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่ออำลาตำแหน่ง

ทั้งนี้มีงานนโยบายสำคัญที่ตลอดระยะเวลาการทำงาน 1 ปี ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ยังไม่สามารถผลักดันให้นำไปสู่การปฏิบัติได้สำเร็จ ได้แก่

- Advertisment -

นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน Energy for all โดยมุ่งหวังที่จะให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานกว่า 7 หมื่นล้านบาท ลงไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน โดยได้มีการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ  จากฉบับปัจจุบันคือ PDP 2018 ให้เป็น PDP 2018 rev1 ที่มีการเพิ่มเติมเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตลอดทั้งแผน รวม 1,933 เมกะวัตต์ โดยจะรับซื้อเข้าระบบภายในปี 2565 จำนวน 700 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นโครงการประเภท Quick win 100 เมกะวัตต์ และ ประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ )  อย่างไรก็ตาม
แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผลักดันจนผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ไปตั้งแต่วันที่  19 มี.ค.2563 จนถึงเมื่อนายสนธิรัตน์ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง  เป็นเวลากว่า 4 เดือน ก็ยังไม่เข้าสู่วาระการพิจารณา ให้ ครม.เห็นชอบได้ ทำให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่กล้าดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน  ประเภท Quick Win ไปก่อนล่วงหน้า เพราะเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในข้อกฏหมาย

โดยมีการคาดการณ์ว่า PDP 2018 rev1 จะถูกดึงเรื่องกลับมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ พิจารณาก่อนว่า จะมีการเดินหน้าต่อ หรือทบทวนปรับปรุงใหม่ หรือไม่ เนื่องจาก สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ดีมานด์ความต้องการใช้พลังงานทั้งไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยในระยะสั้นจะปรับลดลงตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  ในขณะที่ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองก็มีสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 40%  ทำให้ต้องมีการพิจารณาเลื่อนหรือชะลอโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าออกไปก่อน  เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงเกินไป

นอกจากนี้ยังมี โครงการด้านพลังงานทดแทนอื่นๆที่เตรียมดำเนินการภายในปี 2563 นี้ ที่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ต้องพิจารณา  คือ การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ , การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 90 เมกะวัตต์ ,การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 60  เมกะวัตต์

การออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่เดิมกำหนดจะคิกออฟได้ในเดือน เมษายน นี้ และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมความพร้อมเอาไว้ทั้งหมดแล้ว  ก็จะต้องนำเสนอให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ พิจารณาก่อนว่าจะทบทวนหรือให้เดินหน้าเมื่อไหร่ อย่างไร

สำหรับนโยบายการนำเข้า LNG และการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ที่ มติกพช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณาศึกษาทบทวนนั้น  ทางสนพ.เตรียมที่จะนำเสนอให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ เป็นประธาน พิจารณา ในวันที่ 30 ก.ค. 2563 นี้ ก็จะต้องเลื่อนออกไป เพื่อรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังานคนใหม่

รวมทั้งเรื่องของการนำร่องใช้ระบบBlockchain ในการซื้อขายน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซล ที่นายสนธิรัตน์ ตั้งความหวังว่า จะเป็นการปฏิรูปอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง ไม่ให้เอาเปรียบเกษตรกรชาวสวนปาล์ม   ที่มีเอกชนเข้าร่วมโครงการนำร่อง 3 ราย คือ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์  บริษัทน้ำมันพืชปทุม จำกัด และบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ซึ่งจะทราบผลภายใน เดือน ก.ค.2563 นี้ ก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ พิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อ ทบทวน หรือยกเลิก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  มีกระแสข่าวถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ภายหลังการปรับครม.ครั้งนี้ว่า มีการวางตัวนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตซีอีโอ ปตท. และรมช.คมนาคม ในรัฐบาลคสช.เอาไว้ ผ่านโควต้าของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มาทำงานสำคัญคือการผลักดันนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ตามแนวมติ กพช.วันที่ 31 ก.ค. 2560  ให้ประเทศมีต้นทุนทางพลังงานที่ถูกลง  ในขณะที่ขั้วของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ที่ พลาดตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานไปเมื่อการตั้งครม.รอบแรก แต่ส่ง นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย มาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีพลังงาน  ก็ยังมีความพยายามที่จะเจรจาต่อรองตำแหน่ง ให้นายสุริยะ โยกมาเป็นรัฐมนตรีพลังงานในครั้งนี้  หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ให้มีทีมทำงานมาช่วยนายไพรินทร์ เพื่อช่วยดูนโยบายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนและโครงการที่ขอรับการจัดสรรงบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ต้องประสานงานกับชุมชนและฐานเสียงพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่  ซึ่งเป็นงานที่นายไพรินทร์ ไม่มีความถนัด

Advertisment