“สนธิรัตน์”เผยเจรจาเคลียร์ปัญหารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมหมดอายุ มีแนวโน้มที่ดี

413
- Advertisment-

“ สนธิรัตน์  “ ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาเรื่องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานแล้ว โดยที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน “กุลิศ สมบัติศิริ” เป็นประธาน เผยมีแนวโน้มที่ดีในการเจรจา ที่จะไม่นำไปสู่กระบวนการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการ และเชื่อว่าการผลิตปิโตรเลียมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสัญญาสัมปทานไปสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิต จะมีความต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ  

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเรื่องการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในส่วนของแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดสัญญา  ที่ตามกฏกระทรวง  กำหนดให้เอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแท่นผลิตที่รัฐรับโอนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อเนื่องด้วย  ในขณะที่เอกชนผู้รับสัมปทาน เห็นว่า แท่นผลิตที่โอนให้กับรัฐไปแล้ว  ผู้รับสัมปทาน  ไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน  พร้อมเตรียมที่จะยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าว     โดยเผยว่า  กระทรวงพลังงานได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ปัญหาเรื่องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมภายหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 แล้ว โดยมี  นายกุลิศ สมบัติศิริ  ปลัดกระทรวงพลังงาน  เป็นประธาน  ซึ่งได้มีการเริ่มทำงานที่คืบหน้าไปมากแล้ว   แต่ยังไม่ต้องการที่จะเปิดเผยในรายละเอียด  เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้รับสัมปทาน   หากมีข้อยุติแล้ว ก็พร้อมที่จะเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ

อย่างไรก็ตามเห็นว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีแนวโน้มที่ดีในการเจรจาและจะไม่ไปถึงจุดที่ต้องมีการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการ  โดยที่กระทรวงพลังงานพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ดีที่สุด   และทำให้การผลิตปิโตรเลียมในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสัญญาสัมปทานเดิม ไปสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิต มีความต่อเนื่อง

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News  Center – ENC ) รายงานว่า กรณีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ที่เกิดเป็นประเด็นปัญหายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากรัฐ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีการออกกฏกระทรวง ให้บริษัทผู้รับสัมปทานต้องวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ทั้งหมด  โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของแท่นผลิตหรือสิ่งติดตั้ง ที่รัฐไม่ได้รับโอน และส่วนที่รัฐรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง   ซึ่งเป็นรายละเอียดข้อกำหนดที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง  นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน ที่ทำกันไว้ตั้งแต่ปี2515   แต่ฝั่งเอกชนผู้รับสัมปทาน  มองว่าการออกกฏกระทรวงดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมกับเอกชน  และได้ทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

ทั้งนี้ในมุมของเอกชนผู้รับสัมปทาน   แสดงความพร้อมที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งหมด เฉพาะในส่วนที่รัฐไม่รับโอนเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ต่อเท่านั้น    แต่หากรัฐเลือกที่จะรับโอนแท่นผลิตปิโตรเลียมใดเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อ  ผู้รับสัมปทานจะไม่รับผิดชอบภาระในการรื้อถอนแท่นผลิตนั้น   ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับสัญญาสัมปทานโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆเช่นทางด่วน  หรือโรงไฟฟ้า  ที่เป็นการโอนขาดไปทั้งทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ ให้กับรัฐ

Advertisment