“สนธิรัตน์”เตรียมปัดฝุ่นโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า

3728
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน ปัดฝุ่นโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้าใหม่อีกครั้ง หลังพบหยุดส่งเสริมมาตั้งแต่ปี 2557 เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพื่อหาแนวทางส่งเสริมที่เหมาะสม คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน ก่อนบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแผนอยู่

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหา อุปสรรคและแนวทางการนำหญ้าเนเปียร์กลับมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง หลังจากยุติไปตั้งแต่ปี 2557 และจะบรรจุโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้าไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ต่อไป โดยคาดว่าจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมและเห็นความชัดเจนได้ภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้สืบเนื่องจากการหารือเบื้องต้นกับสมาชิก ส.อ.ท.และผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์บางรายที่ผ่านมา พบว่าหญ้าเนเปียร์จัดเป็นพืชพลังงานในกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งแต่เดิมกระทรวงพลังงานส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อนำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพสำหรับผลิตไฟฟ้า โดยรวมมีกำลังการผลิตประมาณ 400-500 เมกะวัตต์ต่อปี  ต่อมามีการยกเลิกการส่งเสริมหญ้าเนเปียร์สำหรับผลิตไฟฟ้าไปเมื่อปี 2557

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า โครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน นอกจากจะช่วยยกระดับพืชพลังงานแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งเกิดความมั่นคงไฟฟ้าด้วย ซึ่งตรงกับนโยบายกระทรวงพลังงานปัจจุบันเรื่อง  Energy For all หรือพลังงานเพื่อทุกคน ซึ่งจะส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตชุมชนนอกจากจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วยังสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง และขายไฟฟ้าได้ด้วย จึงต้องนำโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้ากลับมาพิจารณาร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมต่อไป

นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวในงานครบรอบ 20 ปี สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ว่า ส.อ.ท. เตรียมเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะด้านพลังงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในเร็วๆนี้ โดยเบื้องต้นเห็นด้วยกับนโยบาย Energy for all ที่จะกระจายให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น ทั้งนี้คงต้องหารือร่วมกันว่าวิธีการใดจะเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

อย่างไรก็ตามทาง ส.อ.ท.และสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมจะหารือเป็นการภายในเพื่อสรุปแนวทางด้านพลังงานก่อนเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน   ในเร็วๆนี้ เบื้องต้นยังคงต้องการให้ภาครัฐสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ส่วนการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสำหรับพลังงานทดแทนเพิ่มหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาด้านผลประโยชน์ประเทศก่อน

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อุปสรรคที่ผ่านมาของโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า เกิดจากการสร้างโรงไฟฟ้าไม่สามารถตั้งกระจายได้หลายพื้นที่ เนื่องจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ เป็นการนำหญ้าเนเปียร์มาหมักเป็นก๊าซชีวภาพและนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ดังนั้นโรงไฟฟ้าจะต้องอยู่ใกล้กับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เป็นต้น เพื่อนำจุลินทรีย์จากมูลสัตว์มาช่วยหมักหญ้าเนเปียร์ให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงไปด้วย

ทั้งนี้หากจะกลับมาส่งเสริมโครงการดังกล่าวต่อ ก็จะต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมในลักษณะดังกล่าวอีก หรือปรับวิธีหรือกระบวนการผลิตใหม่ โดยการนำหญ้าเนเปียร์มาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลโดยตรง ไม่ต้องแปลงเป็นก๊าซชีวภาพเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ผ่านมาโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า ได้รับการส่งเสริมช่วงปี 2553-2555 ต่อมาช่วงปี 2556 สมัยที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 16 ก.ค.2556 ได้ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (ปี 2555-2564) หรือ AEDP ใหม่ ซึ่งเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นทุกประเภท ขณะที่ก๊าซชีวภาพ เพิ่มขึ้นจากเดิมมากที่สุด 3,000 เมกะวัตต์ เป็นการปรับเพิ่มจากพืชพลังงานโดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ และนำไปสู่การจัดตั้งต้นแบบโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เพื่อขยายผลไปสู่เป้าหมาย

จากนั้น ช่วงปี 2557 รัฐยกเลิกโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์จำนวน 10 โครงการ ของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งกระทรวงฯไม่ได้ห้ามและยกเลิกส่งเสริมหญ้าเนเปียร์ เพียงแต่ยุติโครงการนำร่องดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นผู้ประกอบการก็ยังสามารถเดินหน้าโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์ได้  แต่จะไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐ

สำหรับในช่วงที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน3,000 เมกะวัตต์นั้น  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ลงนามร่วมกับเอกชน 10 บริษัท ใน 3 พื้นที่ทั้งแล้งน้ำ ชุ่มน้ำ และปลูกข้าวไม่ได้ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินหน้าโครงการโครงการศึกษา วิจัย ต้นแบบวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน โดยบริษัทฯ ทั้งหมดจะได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานรายละไม่เกิน 20 ล้านบาทเพื่อผลิตไฟรายละ 1 เมกะวัตต์

สำหรับ 10 บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง ประกอบด้วย 1. บริษัท เอ็น พี พาวเวอร์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ 2. บริษัท ไทยพีเอสเมกะพาวเวอร์ จำกัด จ.พิจิตร 3. บริษัท พรีไซซ์ พาวเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ 4. บริษัท ไทยไบโอก๊าซ เทคโนโลยี จำกัด จ.ลำปาง 5. บริษัท ลานไบโอก๊าซ จำกัด จ.หนองคาย 6. บริษัท บิเทโก (ประเทศไทย) จำกัด จ.อุบลราชธานี 7. บริษัท กรีนเอนเนอร์จี จำกัด จ.ขอนแก่น 8. บริษัท เอส เอ็ม ซี พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) จ.ร้อยเอ็ด 9. บริษัท สีคิ้ว ไบโอแก๊ส จำกัด จ.นครราชสีมา และ 10. บริษัท ยูเอซีเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.ศรีษะเกษ

Advertisment