รัฐมนตรีพลังงานหนุนปตท.เป็นองค์กรหลักในธุรกิจแอลเอ็นจี ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้าแอลเอ็นจี (LNG Hub ) ในภูมิภาค เนื่องจากมีความพร้อมในระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพแข่งขันกับคู่แข่งได้ โดยให้เวลา 2เดือนในการจัดทำแผนรายละเอียดนำเสนอกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)พิจารณาอนุมัติ
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี ประกอบด้วย PTT Natural Gas Pipeline Knowledge Hall ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพรวมของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และเข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรับส่งก๊าซฯ อัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquisition: SCADA) ในงานควบคุมการรับส่งก๊าซระยะทางไกลแบบเรียลไทม์ (Real time) เพื่อให้การขนส่งก๊าซไปให้ลูกค้าตรงเวลา มีคุณภาพก๊าซตรงตามความต้องการด้วยความปลอดภัยและต่อเนื่องและรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และนายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ให้การต้อนรับ
โดยนายสนธิรัตน์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า ได้มองเห็นถึงศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและขีดความสามารถในการบริหารจัดการของปตท. และได้ให้นโยบายเพิ่มเติมไปว่า เรื่องใดที่ได้ดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการต่อไปให้มีความต่อเนื่อง และให้ทิศทางการดำเนินการในอนาคตกับปตท.ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ว่า ปตท.จะต้องเป็นองค์กรหลัก ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ในภูมิภาค อาเซียน (LNG Hub)โดยปตท.จะเป็นผู้เล่นที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ในการจัดหาและการค้าแอลเอ็นจี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ปตท.จัดทำแผนงานในรายละเอียดสำหรับการก้าวสู่การเป็นLNG Hub เพื่อนำเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาภายใน2 เดือน ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
ทั้งนี้มีหลายประเทศที่ต้องการจะเป็นผู้นำด้านการค้าแอลเอ็นจีในภูมิภาค ซึ่ง ปตท.จะต้องช่วงชิงความเป็นผู้นำ โดยจะเป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจี เพื่อมากระจายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการ ในแบบ small scale
สำหรับประเด็นความคืบหน้าของการจัดหาแอลเอ็นจี ในปริมาณไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ประมูลจนได้ผู้ชนะคือ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย นั้น นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 30ส.ค.2562 โดยให้ กฟผ.ทดลองนำเข้าแอลเอ็นจีแบบSpot ไปก่อน ในปริมาณไม่เกิน 1.8แสนตัน เพื่อทดสอบระบบ หลังจากนั้น กฟผ.จะรายงานผลกลับมายัง กบง. จึงจะพิจารณาว่า จะให้กฟผ.ดำเนินการอย่างไรต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า กฟผ.ได้มีการเจรจากับทางปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย ตามมติ กบง.เมื่อวันที่ 30ส.ค.2562 แล้ว โดยทาง ปิโตรนาส ยืนยันที่จะ ยืนราคาที่ชนะประมูลการจัดหาแอลเอ็นจี ให้ กฟผ.ออกไปอีก 8 ปี โดยหาก กฟผ.สามารถที่จะนำเข้าแอลเอ็นจี แบบSpot ตามมติ กบง.ให้แล้วเสร็จภายในปี2562 และ รายงานให้ กบง.รับทราบแล้ว หากกบง.มีนโยบายที่จะให้ กฟผ.เป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจีรายใหม่ ที่เป็นสัญญาระยะกลาง และระยะยาว กฟผ.ก็พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องมีการเปิดประมูลครั้งใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 12 ตุลาคม 2562 นี้นายสนธิรัตน์ พร้อมคณะ จะเดินทางไปยัง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรับฟังการบรรยายการประกอบกิจการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว และเยี่ยมชมสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal)
ด้าน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานที่สำคัญยิ่งของประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน ทำให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เป็นธุรกิจต้นน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นรากฐานของกลุ่ม ปตท. และอยู่คู่กับ ปตท. โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 40 ปี จนปัจจุบันได้ขยายการจัดหา จัดจำหน่ายก๊าซฯ ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้า LNG จากต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย และปัจจุบันได้มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค ตามนโยบายจากภาครัฐต่อไป