“สนธิรัตน์” ยืนยัน กฟผ.ได้สิทธิ์จัดหาLNG ระยะยาว คาดลงนาม Global DCQ ต้นปี63

601
- Advertisment-

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยืนยันกฟผ.จะได้สิทธิ์ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่เป็นสัญญาระยะยาวเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.ในสัดส่วนที่เหมาะสม  ในขณะที่การจัดหาก๊าซเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เป็นบทบาทของปตท. โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก  ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพลังงานระบุ การลงนามในสัญญาก๊าซธรรมชาติระยะยาวระหว่าง กฟผ.และปตท. หรือสัญญาGlobal  DCQ  จะยกยอดไปลงนามในต้นปีหน้า โดยระบุสัดส่วนให้ ปตท.รับเป็นผู้จัดหาก๊าซประมาณ50% ของปริมาณการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศ   ส่วนสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะสั้น ที่มีการต่อสัญญากันปีต่อปี ที่จะสิ้นสุดอายุภายในสิ้นเดือนธ.ค.2562 นี้ จะมีการขยายระยะเวลาไปอีกประมาณ6 เดือน  ก่อนจะยกเลิกภายหลังจากที่มีการลงนามสัญญา Global  DCQ  กันแล้ว

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2562 ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) นำโดยนายปิติพงษ์ อนันตสุรการ  ประธานสร.กฟผ. ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เพื่อขอความชัดเจนกรณีการนำเข้าLNG ของกฟผ. หลังจากที่ มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ยกเลิกมติ กพช.วันที่31ก.ค.2562 ที่กฟผ.เป็นผู้จัดหาก๊าซ(Shipper) รายใหม่ ในปริมาณ ไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี  แต่ให้กฟผ.นำเข้าLNG แบบตลาดจร หรือspot ในปริมาณ2 ลำเรือ ลำเรือละ65,000ตัน รวม 130,000ตัน แทน  และส่งผลให้ กฟผ.จะต้องแจ้งยกเลิกการประมูลการจัดหาLNG ในปริมาณไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี ระยะเวลา8ปี ที่ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งได้ผู้ชนะคือ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย   ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในนโยบายด้านพลังงาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“สนธิรัตน์” และ “กุลิศ” หลังรับหนังสือจากประธาน สร.กฟผ.

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าว ว่า   มติที่ให้มีการยกเลิกการจัดหาLNG ในปริมาณไม่เกิน1.5 ล้านตันต่อปี ของกฟผ. นั้นเป็นการมองในภาพรวม ที่จะไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการไม่สามารถรับก๊าซได้ตามสัญญาหรือ take or pay โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ที่จะไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น  โดยมั่นใจว่า ปิโตรนาส แอลเอ็นจี  ที่เป็นผู้ชนะการประมูล จะไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับทางกฟผ. เนื่องจากยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาใดๆ ระหว่างกัน  และที่ผ่านมาทางกฟผ.ก็ได้มีการเจรจาทำความเข้าใจกับทางปิโตรนาสแล้ว

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามยังยืนยันในนโยบายที่จะให้ กฟผ.ทำหน้าที่เป็นShipper ที่จะมีสิทธิ์จัดหาLNG ในสัญญาระยะยาวเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.ได้ในปริมาณที่เหมาะสม   โดยการจัดหาก๊าซอีกส่วนหนึ่งเพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ จะเป็นบทบาทของปตท.  ที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาว หรือ สัญญา Global  DCQ  กับ กฟผ.  ซึ่งทั้งสองส่วนจะรวมเป็นgas pool เดียวกันในการคิดต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้ภายหลังจากที่ กฟผ.มีการนำเข้าLNG แบบspot ทั้งสองลำเรือ คือลำเรือแรกปริมาณ 65,000 ตัน จะมาถึงในวันที่28 ธ.ค. 2562 และลำเรือที่สอง อีก 65,000 ตัน ในเดือนเม.ย. 2563  ทางกฟผ.จะมีการนำเสนอผลการนำเข้าต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ซึ่งจะได้มีการพิจารณากำหนดเป็นนโยบายต่อไปว่า การนำเข้าLNG ของกฟผ.ในเที่ยวต่อไป ควรจะเป็นรูปแบบspot  สัญญาระยะกลาง หรือ สัญญาระยะยาว  และในปริมาณเท่าใด

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกฟผ. กล่าวว่า บอร์ดกฟผ.จะมีการหารือเรื่องสัญญา  Global  DCQ  กันในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ โดยในเบื้องต้นจะมีการกำหนดสัดส่วนปริมาณการนำเข้าLNGในสัญญาระยะยาว ที่กฟผ.จะเป็นผู้จัดหาเอง   ซึ่งหลังจากที่บอร์ด กฟผ.ให้ความเห็นชอบ จึงจะนำไปสู่การลงนามในสัญญากับทาง ปตท.

ในขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน  กล่าวว่า  ที่ผ่านมาสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวระหว่าง กฟผ.กับปตท. ที่มีอายุสัญญา25ปี ได้สิ้นสุดลงไปตั้งแต่ปี 2558 และมีการเซ็นสัญญาระยะสั้น เป็นสัญญาคราวละ1ปี ต่อเนื่องมา4 ครั้ง แล้ว และสัญญาที่มีอยู่จะสิ้นสุดภายในเดือนธ.ค.2562 นี้   ทั้งนี้ในระหว่างที่มีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาว หรือ  สัญญา  Global  DCQ   หากไม่สามารถลงนามร่วมกันได้ทันภายในปี2562 นี้ ทั้ง กฟผ.และปตท. จะมีการขยายสัญญาซื้อขายก๊าซระยะสั้น ออกไปก่อน  จนกว่าจะมีการลงนามในสัญญา Global  DCQ   ที่คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2563

ทั้งนี้ ภายใต้สัญญา Global  DCQ ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายก๊าซที่ครอบคลุมโรงไฟฟ้าหลักที่อยู่ในแนวโครงข่ายท่อส่งก๊าซภาคตะวันออกและภาคตะวันตก  จะมีระยะเวลาการซัพพลายก๊าซที่สั้นลงจาก25ปี เหลือประมาณ10ปี   โดยที่มีการกำหนดสัดส่วนปริมาณที่ปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซให้ทั้งโรงไฟฟ้าของกฟผ.และโรงไฟฟ้าIPP  ในสัดส่วนประมาณ 50% ของปริมาณก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศ   เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ  และในส่วนของดีมานด์ที่เหลือ  จะกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมให้กฟผ.เป็นผู้จัดหาก๊าซเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง  รวมทั้งการเปิดให้ shipper รายอื่นๆ ได้แข่งขันกันเป็นผู้จัดหาด้วย  โดยที่ยังเปิดโอกาสให้ ปตท.สามารถเข้าแข่งขันจัดหาก๊าซในส่วนนี้ได้ด้วย

Advertisment