สกนช. เปิดเวทีรับฟังความเห็น พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ผู้ร่วมสัมมนาแนะกำหนดเพดานส่งเงินเข้ากองทุนฯ ป้องกันผู้ใช้เบนซินอุ้มดีเซล

187
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดรับฟังความคิดเห็น “การประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562” หลังใช้งานกฎหมายครบ 5 ปี  ชี้ควรแก้ไขกรอบวงเงินสะสมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และกู้ได้ครั้งละไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ระบุบทเรียนวิกฤติพลังงานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ากรอบวงเงินไม่ตอบโจทย์แผนรองรับวิกฤติด้านน้ำมัน ด้านผู้ร่วมสัมมนาแนะแยกบัญชีน้ำมันแต่ละประเภท และกำหนดเพดานส่งเงินเข้ากองทุนฯ ให้ชัดเจน ป้องกันผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินอุ้มผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล  

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 และกฎหมายลำดับรอง โดยระบุว่า สกนช. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการจัดรับฟังความคิดเห็นการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติฯดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

“ปี 2567 เป็นปีที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้ผ่านการใช้งานมาครบ 5 ปี สกนช.จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562”  

- Advertisment -

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ควรมีการพิจารณาและนำไปสู่การแก้ไขในกฎหมายฉบับปัจจุบัน มีอาทิ เช่น มาตรา 26 ในพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 เรื่องแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่ง “วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” หมายความว่า สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วหรือผันผวนจนอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือ สถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงอาจขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ

โดยตามข้อกฎหมายกำหนดให้กองทุนฯ มีเงินสะสมไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และกู้ได้ครั้งละไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมา ทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างมาก จนกองทุนฯ มีภาระต้องเข้าไปชดเชยราคาน้ำมันสูงถึง 10 บาทต่อลิตร หรือ ต้องใช้เงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ฉะนั้นการกำหนดเพดานกรอบวงเงินดังกล่าว จึงไม่เพียงพอและนำไปสู่การสร้างภาระหนี้จากการกู้เงินของกองทุนฯ เช่นในปัจจุบัน เป็นต้น 

อ.ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ นำเสนอมาตรการสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 เบื้องต้นพบว่า พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนี้

1.แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำหนดขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

2.สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนอาจกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

3.กรอบวงเงินของกองทุนที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาจไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

4.การยื่นคำขอรับเงินคืนจากกองทุนกรณีส่งเงินเข้ากองทุนโดยไม่มีหน้าที่หรือส่งเงินเกินกว่าจำนวนที่มีหน้าที่ต้องส่งต่อสำนักงานก่อน ทำให้อาจเกิดความล่าช้าในการพิจารณาคำขอ

5.การใช้มาตรการลงโทษทางอาญาเป็นเครื่องมือควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายในบางเรื่องอาจไม่เหมาะสม

ด้านผู้เข้าร่วมสัมมนาฯครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้แสดงความคิดเห็นในหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ กฎหมายหลายข้อยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนิยามคำว่า วิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้สำหรับรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หรือ เพื่อชดเชยราคาน้ำมัน ควรกำหนดให้ชัดเจน , การที่ประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อบอกว่าเป็นการนำเงินไปใช้รักษาเสถียรภาพราคา แต่ไม่เคยได้ใช้ดูแลราคาขายปลีกเบนซิน แต่กลับต้องมีภาระช่วยชดเชยราคาดีเซล จึงเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมให้กับผู้ใช้เบนซิน ฉะนั้นควรมีการแยกบัญชีกองทุนน้ำมันสำหรับน้ำมันแต่ละประเภทให้ชัดเจน

รวมถึงควรมีการกำหนดกรอบเพดานเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแต่ละชนิดให้ชัดเจน เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ได้กำหนดกรอบเพดานไว้ เพราะปัจจุบันกลุ่มเบนซินมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯสูงถึง 10.78 บาทต่อลิตร

นอกจากนี้ การนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปใช้ดูแลราคาเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีราคาสูงในปัจจุบัน ยังเป็นการสร้างภาระให้กับกองทุนฯ ซึ่งภาครัฐควรพิจารณาว่าหากต้องการช่วยเหลือเกษตรกร ก็ควรหาวิธีอื่น ไม่ใช่ให้ผู้ใช้น้ำมันเข้าไปแบกรับภาระในส่วนนี้ เพราะสถานการณ์ราคาในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแล้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางทีมงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ และการรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อจัดทำเป็นร่างรับฟังความคิดเห็นการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ส่งให้ สกนช. เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาปรับปรุงกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป

Advertisment