สกนช. ทบทวน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ หลังใช้ครบ 5 ปี เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ 9 ส.ค. 2567

221
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีรับฟังความเห็นประสิทธิผล พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ในวันที่ 9 ส.ค. 2567 นี้ เพื่อทบทวนกฎหมายหลังใช้มาครบ 5 ปี เน้นพิจารณาด้านกรอบวงเงินที่กำหนดให้เก็บได้ไม่เกิน  4 หมื่นล้านบาท และกู้ได้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ว่ายังเหมาะสมอยู่หรือไม่ และการอุดหนุนราคาน้ำมัน รวมถึง LPG ควรปรับเปลี่ยนมาดูแลเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือไม่ ระบุหลังได้ข้อสรุปจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับปรุงกฎหมายต่อไป  

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช. เตรียมทบทวน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 หลังจากใช้มาครบ 5 ปี ซึ่งตามปกติจะต้องทบทวนทุกๆ 5 ปี เพื่อให้กฎหมายเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด โดย สกนช. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาประเมินการใช้งาน พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว

โดยในวันที่ 9 ส.ค. 2567 สกนช. ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเวทีรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ค้าน้ำมัน กรมสรรพสามิต สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะจัดขึ้นที่ กทม. เพื่อประเมินผลสำเร็จของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ตลอด 5 ปีที่ใช้มา

- Advertisment -

เบื้องต้นจะมีการพิจารณาถึงกรอบวงเงินที่กำหนดให้เก็บเงินได้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และสามารถกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ว่าเหมาะสมและเพียงพอต่อการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) ในช่วงสถานการณ์วิกฤติพลังงานได้หรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.อย่างไร

นอกจากนี้จะต้องพิจารณาด้วยว่าการช่วยเหลือด้านราคาน้ำมันและ LPG ควรช่วยเป็นการทั่วไป หรือจะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่นเดียวกับการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่มีการออกบัตรสิทธิประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ใช้ก๊าซ NGV ราคาถูก เป็นต้น

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาจะพบว่ามีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์เข้ากองทุนน้ำมันฯ ประมาณ 1-10 บาทต่อลิตร (น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เรียกเก็บ 3.70 บาทต่อลิตร) แต่กลุ่มผู้ใช้ดีเซลได้รับการอุดหนุนราคามาโดยตลอด ล่าสุดอุดหนุนราคาอยู่ที่ 40 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ แต่เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้มากที่สุดประมาณ 68 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่น้ำมันกลุ่มเบนซินใช้อยู่ 31 ล้านลิตรต่อวัน และกลุ่มผู้ใช้ดีเซลยังเป็นรถยนต์ในด้านการขนส่ง หากไม่ช่วยอุดหนุนราคาอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและค่าขนส่งในประเทศไทย  

อย่างไรก็ตามหลังจากเปิดรับฟังความเห็นต่อ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ แล้ว ทาง สกนช. จะนำมาสรุปผลและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าวต่อไป

ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานเตรียมยุบกองทุนน้ำมันฯ และร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมานั้น เชื่อว่ากองทุนน้ำมันฯ ก็ยังคงอยู่ในกฎหมายใหม่ได้ เนื่องจากกองทุนฯ ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และสามารถช่วยเหลือในยามที่เกิดวิกฤติราคาพลังงานได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐเป็นหลักด้วย

Advertisment