สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เตรียมสรุปเลื่อนแผนยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซลไปอีก 2 ปี ชี้เกษตรกรและเอกชนยังไม่พร้อมรับมือ หากยกเลิกตามกฎหมาย 30 ก.ย. 2565 นี้ และนโยบายรัฐด้านน้ำมันพื้นฐานดีเซล เบนซินยังไม่ชัดเจน จ่อเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) พ.ค. นี้ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ส.ค. 2565 พิจารณาเลื่อนกรอบ 2 ปี
แหล่งข่าวสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพว่า สกนช. เตรียมลงพื้นที่สำรวจข้อมูลด้านเอทานอลที่ จ.กาฬสินธุ์ ในวันที่ 28-29 เม.ย. 2565 หลังจากได้สำรวจข้อมูลด้านปาล์มน้ำมันไปเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่าน เพื่อนำข้อมูลมาสรุปว่า ต้องขอเลื่อนแผนยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปีหรือไม่
เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้ยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพภายในปี 2565 หรือใน 30 ก.ย. 2565 นี้ แต่กฎหมายเปิดช่องให้กรณีดำเนินการไม่ทัน สามารถขอขยายกรอบเวลาออกไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ซึ่งการยกเลิกการชดเชยราคาดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมเอทานอล และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 จะมีราคาตามต้นทุนที่แท้จริง โดยภาครัฐไม่สามารถเข้าไปอุดหนุนราคาได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตามหลังจากเก็บข้อมูลทั้งด้านเอทานอลและปาล์มน้ำมันเสร็จแล้ว สกนช.จะสรุปผลเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ในเดือน พ.ค. 2565นี้ หากมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาออกไป เพื่อให้กองทุนฯ ยังสามารถนำเงินมาดูแลราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซล ได้
ทาง สกนช. ก็จะนำผลสรุปจาก กบน. เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2565 ต่อไป เพื่อให้ทันกำหนดก่อนกฎหมายจะบังคับใช้ 30 ก.ย. 2565 นี้
ทั้งนี้จากการเข้าไปสำรวจข้อมูลด้านปาล์มน้ำมันที่ผ่านมาพบว่า มีความไม่สมดุลของวงจรธุรกิจปาล์มน้ำมัน โดยเกษตรกรได้ผลประโยชน์ไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับลานเท ที่ได้ประโยชน์สูงมาก นอกจากนี้นโยบายรัฐต้องการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มที่ราคาตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด จึงให้นำมาใช้ในภาคพลังงาน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภค แต่ปรากฏว่า ปัจจุบันเกษตรกรมุ่งผลิตปาล์มเพื่อนำมาขายให้ภาคพลังงานแทนการบริโภค โดยเกิดการใช้ในภาคพลังงานถึง 70% ส่วนการบริโภคมีเพียง 30% ทำให้โครงสร้างผิดเพี้ยนไปมาก
รวมทั้งยังพบว่าเกษตรกรและภาคเอกชน ยังไม่มีการเตรียมพร้อมรองรับกรณีภาครัฐยกเลิกการสนับสนุนราคาถาวร ประกอบกับนโยบายยังไม่ชัดเจน ทั้งด้านการส่งเสริมให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศหรือไม่ รวมทั้งกรณีน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันจำหน่ายเป็นไบโอดีเซล B5 ทั้งหมด หากหมดมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันแล้ว ภาครัฐจะกลับมาจำหน่ายเป็น 3 ชนิดตามเดิมหรือไม่ และจะให้ไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ ต่อไปหรือไม่ ซึ่งภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้
ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่ สกนช. อาจต้องขอยืดเวลาการใช้ มาตรการยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรและวงจรธุรกิจทั้งปาล์มน้ำมันและเอทานอล รวมทั้งรอนโยบายภาครัฐด้านการกำหนดชนิดน้ำมันพื้นฐานของประเทศให้ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตามคาดว่าผลสรุปจากการศึกษาข้อมูลทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้