“ศิริ” คาดสัปดาห์หน้า รู้ผลปตท.ดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ1แสนตันเพื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ส่งออก ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.) ได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันกรมธุรกิจพลังงานก็เตรียมประกาศรายชื่อค่ายรถและรุ่นรถกระบะที่สามารถใช้B20ได้
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ามติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.)ที่ให้ ปตท. ดำเนินการศึกษาในรายละเอียดว่าจะผลิตไบโอดีเซล โดยผสม CPO ปริมาณ 1 แสนตัน ว่า จะเป็นการให้ ปตท.ซื้อ CPO ไปเก็บไว้ที่คลังจ.สุราษฎร์ธานี เพื่อแปรสภาพเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% (บี 100) และส่งออกในรูปแบบของไบโอดีเซลนั้น ในส่วนของรายละเอียด ปตท.จะซื้อในระดับราคาและปริมาณเท่าไร รวมถึง ส่งออกอย่างไร โดยจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้ากรมธุรกิจพลังงาน จะประกาศรายชื่อ รถยนต์ รถกระบะ รถยนต์นั่งบางยี่ห้อ และรถยนต์บางรุ่น ที่สามารถเติมน้ำมันดีเซล B20ได้ เพิ่มเติม เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ล้นตลาด และ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยปัจจุบัน ดีเซล B20 มีการจำหน่ายในปั๊ม จำนวน 65 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของผู้ค้าน้ำมัน 4 ราย คือ พีทีทีโออาร์,บางจากฯ ซัสโก้ และพีทีจี โดยยังคงมาตรการอุดหนุนส่วนต่างให้ราคาดีเซล B20 ถูกว่า ดีเซลปกติ(B7) อยู่ที่ 5 บาทต่อลิตรไปจนถึงเดือนพ.ค.นี้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการจำหน่าย B20 เป็น 90 ล้านลิตรต่อเดือน ภายในเดือนพ.ค.นี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 30 ล้านลิตรต่อเดือน และจะเดินหน้าผลักดันให้ได้ตามเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 450 ล้านลิตรต่อเดือนต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2562 จะเป็นปีที่น้ำมันปาล์มดิบ(CPO) ล้นตลาดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 3 ล้านตันต่อปี นับเป็นการทำลายสถิติสต็อก CPO ในอดีต
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2562 ได้มีมติให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าบางปะกง จากเดิมเดือนละ 1,000 ตัน เพิ่มเป็นเดือนละ 1,500 ตัน ซึ่งจะส่งผลให้การใช้น้ำมันปาล์มถึงเป้าหมาย 1.6 แสนตันได้เร็วขึ้นภายในเดือนเม.ย.นี้ จากเดิมจะใช้หมดภายในเดือนมิ.ย.นี้ ส่วนจะมีการรับซื้อน้ำมันปาล์มเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมหรือไม่ ยังต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง เพราะในปีนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องของภัยแล้งที่อาจส่งผลให้ผลผลิตปาล์มไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจจะกระทบต่อการบริโภคน้ำมันปาล์มได้เนื่องจากตลาดจะขาดสมดุล