ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคณะกรรมการปิโตรเลียม

1661
- Advertisment-

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกฟ้อง กรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องคณะกรรมการปิโตรเลียม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับการออกหลักเกณฑ์ระบบจ้างบริการไม่เป็นธรรม และการเจรจาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560   ในขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ยังเดินหน้ากระบวนการร่างสัญญาการรับสิทธิ์ดำเนินกิจการในแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ บงกช กับบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอฟเม้นท์ จำกัดและผู้ร่วมทุนที่ชนะประมูล ตั้งเป้าลงนามภายในเดือน ก.พ.2562 นี้ 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2562 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกฟ้อง กรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องร้องคณะกรรมการปิโตรเลียม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ซึ่งลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ที่กำหนดเงื่อนไขการใช้ “ระบบจ้างบริการ” ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง และเอื้อประโยชน์กับผู้รับสัมปทานรายเดิม

โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการปิโตรเลียมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และรูปแบบการสำรวจที่เหมาะสม ทำให้จูงใจนักลงทุนมาร่วมแข่งขันได้ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ดังนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์จ้างบริการที่คณะกรรมการปิโตรเลียมกำหนดไว้ จึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว

- Advertisment -

ส่วนกรณีกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ.2561 นั้น ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า แบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ท้ายกฎกระทรวงที่กำหนดให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีสิทธิรับส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรแทนรัฐ โดยเจรจาราคาตามที่เห็นชอบกับผู้รับสัญญา โดยไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริต ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ได้กำหนดวิธีการขายปิโตรเลียมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แบบของสัญญาตามกฎกระทรวงดังกล่าวจึงเป็นไป ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514  ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

ในขณะที่แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุถึงความคืบหน้าในการประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งเอราวัณ และ บงกช หลังจากที่ทราบผลการประมูลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13ธ.ค.2561ที่ผ่านมาว่า  ทาง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.)ได้จัดทำร่างสัญญาการได้รับสิทธิ์ในการดำเนินกิจการในแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ แปลงที่ G1/61 และแหล่งผลิตปิโตรเลียมบงกช แปลง G2/61 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ที่การตรวจสอบจากทางสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อผ่านการพิจารณาจากทางอัยการแล้วจะส่งร่างสัญญากลับมาให้คณะกรรมการปิโตรเลียม ตรวจดูรายละเอียดการแก้ไข เพื่อนำไปจัดทำเป็นหนังสือสัญญาต่อไป

โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดว่าขั้นตอนการจัดทำหนังสือสัญญาจะเสร็จภายในเดือนก.พ. 2562 และจากนั้นจะดำเนินการเซ็นสัญญาระหว่างภาครัฐ คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กับ ฝ่ายผู้ชนะประมูลสำหรับแหล่งเอราวัณ แปลง G1/61 คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ชนะประมูลแหล่งบงกช แปลง G2/61 คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งกระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายจะลงนามให้เสร็จภายในเดือน ก.พ. 2562 นี้

Advertisment