วงเสวนาสมาคมผู้สื่อข่าวชี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รัฐบาลใหม่ต้องสร้างเสถียรภาพทางการเมือง

323
- Advertisment-

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ชี้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว รัฐบาลต้องสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศและอาเซียนป้องกันผลกระทบจากภายนอก วอนการเมืองอย่าทะเลาะกันเหมือนอดีต  พร้อมระบุการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์โดยการขนส่งสินค้าทางรถไฟถึงท่าเรือแหลมฉบังโดยตรง จะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล 

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2562 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2561 ในหัวข้อ เศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้ง ซึ่งมีภาคเอกชนที่สำคัญของไทยร่วมเสวนาได้แก่ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดยก่อนการเสวนา นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ เศรษฐกิจไทยกับการลงทุนในอีอีซี ว่า ในปี 2562 นี้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ทั้งกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงกรณีการพิจารณาถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ของอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้น ไทยต้องสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศก่อน ซึ่งการสร้าง EEC ถือเป็นหนึ่งในการเพิ่มความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย และขยายความร่วมมือไปสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจในอาเซียนเอง เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจโลก

- Advertisment -

ทั้งนี้ หากโครงการ EEC แล้วเสร็จ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 4% โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายทั้งระยะ 5 ปีและ 10 ปี จึงอาจมีหลายรัฐบาลเข้ามาดูแล โดย EEC ถือเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก และไม่ใช่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เนื่องจากต้องดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และสามารถเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมประเทศเติบโตต่อเนื่องได้ ดังนั้น ขอร้องอย่าทะเลาะกันเหมือนในอดีตเพราะจะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน

สำหรับในปี 2562 นี้ คาดว่าการลงทุนใน EEC จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนการลงทุน 80% ใน EEC เป็นการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ มูลค่ารวมประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยลงทุนในปี 2562 ที่ประมาณ 40-50% ของเงินลงทุนรวม 6 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ โครงการที่จะลงทุนใน EEC เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดการระบบโลจิสติกส์ที่สามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังท่าเรือแหลมฉบังโดยตรง ซึ่งนอกจากจะสะดวก ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งแล้ว ยังทำให้ลดการใช้รถบรรทุกในการขนส่งสินค้า เนื่องจากรถบรรทุกใช้น้ำมันดีเซลที่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญก่อให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯและปริมณฑล อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหามลพิษในกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลานานเป็นปี ซึ่งภาครัฐและทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา

ด้านเวทีการเสวนา เรื่องเศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้ง นายวราวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวในระหว่างเสวนาว่า ในวันที่ 18 ม.ค. 2562 ตัวเองจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้แก้ 3 ปัญหาสำคัญ ได้แก่ 1. การผูกขาดธุรกิจสินค้าปลอดภาษี หรือ Duty Free ซึ่งทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าว โดยเมื่อเทียบกับต่างประเทศมี Duty Free ถึง 20 บริษัท แต่ไทยมีเพียงแค่รายเดียว 2. การเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือยที่แพง ทำให้นักท่องเที่ยวไม่นิยมซื้อสินค้าไทย  และ 3. การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (tax refund) ที่มีช่องทางการให้บริการน้อยเกินไป

นอกจากนี้ เห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยระยะสั้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือ มลภาวะในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาในไทย ดังนั้นต้องมีมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาต่อไป และรัฐบาลใหม่ต้องสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจ ส่วนการใช้นโยบายประชานิยมต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่าประเทศชาติจะไปไม่รอด

นายไพบูลย์​ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน รวมถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า การเลือกตั้งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะตามสถิติที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจะปรับขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน และหลังจากนั้น นักลงทุนจะรอความชัดเจนผลการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาว่าใครเป็นรัฐบาลและจะดำเนินโครงการต่างๆ ต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขอฝากรัฐบาลออกมาตรการแบบระยะยาวโดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ และต้องมีตัววัดผลระยะยาวเช่นกัน โดยไม่ควรเน้นนโยบายระยะสั้นเกินไปเพื่อหวังผลคะแนนเสียงเท่านั้น เพื่อให้ประเทศเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์​ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่เน้นเรื่องการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศยุโรป เป็นพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยส่งสินค้าอาหารไปตลาดยุโรปสร้างรายได้จำนวนมาก จึงไม่อยากเสียตลาดดังกล่าวไปให้กับประเทศคู่แข่งในเอเชีย อย่างเวียดนาม อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA ได้ต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ซึ่งทางเวียดนามได้เจรจา FTA กับยุโรปไปแล้ว และจะมีผลในปี 2563 นี้

พร้อมกันนี้ ต้องการให้การเมืองชัดเจน เพื่อจะได้แก้ปัญหาด้านการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะอุปสรรคทางกฎระเบียบมากมาย นอกจากนี้เห็นว่าแม้ไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ควรพิจารณาเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ในอนาคต ไม่เช่นนั้นไทยจะกลับมาล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านได้

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งถือเป็นปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ หากไม่มีผลกระทบรุนแรงจากต่างประเทศ โดยเมื่อมีการเลือกตั้งจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงขึ้น มีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยและทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโต โดยจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า การเลือกตั้งทำให้เกิดเงินหมุนเวียนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตไม่ต่ำกว่า 3% และอาจถึง 4.2% หากการเมืองมีเสถียรภาพ  ดังนั้นการเมืองจึงสัมพันธ์กับเศรษฐกิจทั้งด้านดีมานด์และซัพพลาย

Advertisment