กฟผ.เจรจา ปิโตรนาส แอลเอ็นจี กรณี นำเข้าแอลเอ็นจี ไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี หวังให้ยืนราคาขายตามข้อเสนอเดิมที่ชนะประมูลต่อไปแม้ครบกำหนด 30 ก.ย.2562 นี้ เพื่อลุ้นให้กบง.อนุมัติลงนามในสัญญา ระบุหาก ปิโตรนาส เปลี่ยนราคาใหม่ กฟผ.สามารถแจ้งยกเลิกการประมูลได้ โดยไม่ถือเป็นการผิดเงื่อนไข หรือต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย แต่เสี่ยงกระทบภาพลักษณ์ กฟผ.และประเทศเพราะเป็นการประมูลแบบ International Bidding
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal) การประมูลแอลเอ็นจี ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี มีเงื่อนไขระบุไว้ด้วยว่า ผู้ชนะประมูล จะต้องยืนราคาขายแอลเอ็นจี ตามข้อเสนอเดิม จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2562 โดยหากยังไม่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายระหว่างกัน กฟผ. สามารถที่จะแจ้งยกเลิกการประมูลได้โดยไม่ถือเป็นการผิดเงื่อนไข หรือต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับปิโตรนาส แต่กรณีดังกล่าวอาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของกฟผ.และประเทศไทย ในสายตานักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากการประมูลจัดหาแอลเอ็นจีดังกล่าว เป็นการประมูลแบบ International Bidding ที่มีบริษัทชั้นนำระดับโลกให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล จนมีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่สามารถเสนอราคาแข่งขันได้จำนวนถึง 12ราย
แหล่งข่าว กล่าวว่า มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 30ส.ค.2562ที่ผ่านมาได้มอบหมาย ให้ กฟผ.ไปเจรจาหาข้อยุติในการนำเข้าแอลเอ็นจี กับปิโตรนาส โดยไม่ให้เกิดข้อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายใดๆตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ และรายงานผลกลับมายัง กบง.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้หาก กฟผ. ยังต้องการที่จะนำเข้า แอลเอ็นจี ในปริมาณไม่เกิน 1.5ล้านตันต่อปี โดยไม่ต้องยกเลิกการประมูล ก็จะต้องเจรจาต่อรองให้ ทางปิโตรนาส ยืนราคาขายแอลเอ็นจี ตามข้อเสนอที่ชนะประมูล ออกไปให้นานที่สุด และต้องนำเรื่องเสนอให้ กบง.เห็นชอบ เพื่อส่งต่อให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขาย ให้ได้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC ) รายงานว่า การประมูลจัดหาแอลเอ็นจีในปริมาณไม่เกิน 1.5ล้านตันต่อปี กฟผ.สามารถพิจารณาจนได้ผู้ชนะคือ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี จากมาเลเซีย และเสนอบอร์ดกฟผ.ให้ความเห็นชอบ ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2562 แล้ว และกระบวนการที่จะนำไปสู่การลงนามในสัญญามีความล่าช้า ไม่สามารถดำเนินการได้ก่อนวันที่ 30 ก.ย.2562 เนื่องจาก การประชุม กบง.เมื่อเดือน ก.ค.2562 มีการเปิดประเด็นข้อกังวลเรื่องภาระ take or pay ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็น นาย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ทำให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว และ มติกบง.วันที่ 30ส.ค.2562ที่ผ่านมาได้มอบหมาย ให้ กฟผ.ไปเจรจาหาข้อยุติในการนำเข้าแอลเอ็นจี กับทางปิโตรนาส โดยมีการประเมินเบื้องต้นว่ามูลค่าในสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีดังกล่าว สูงกว่า 1 แสนล้านบาท