เรื่องสำคัญในวงการพลังงาน ที่คนยังติดตาม แม้คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่ทราบถึงบทบาทว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนทุกคนต้องจ่ายคือตำแหน่งกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ยังว่างอยู่ 4 ตำแหน่งจากกรรมการครบชุดที่ต้องมีทั้งหมด 7 ตำแหน่ง โดยว่างเว้นมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2567 หรือ 4 เดือนกว่าแล้ว คำถามที่ผู้คนสงสัยคือทำไมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 จึงยังไม่ตั้งตำแหน่ง กกพ. ใหม่นี้เสียที
แม้ว่าคณะกรรมการ กกพ.ที่เหลืออยู่จะยังทำงานกันต่อได้ เพราะ กรรมการที่ครบวาระ 3 คน คือ นายสหัส ประทักษ์นุกูล ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม ยังสามารถรักษาการได้ ส่วน นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการ กกพ.ที่ครบวาระ นั้นไปต่อไม่ได้เพราะอายุครบ 70 ปี แต่รัฐมนตรีพลังงานจะปล่อยมือให้เป็นไปอย่างนี้ตลอดหรือ ?
ในเรื่องความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการแต่งตั้ง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 นั้นคงไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะตัวรัฐมนตรีพลังงาน ท่านเป็นนักกฏหมาย และในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่เสนอตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการ กกพ. เข้าไป ก่อนที่จะสั่งเบรคการทำงานของคณะกรมการสรรหาที่ตั้งขึ้นในภายหลัง ก็มีการเสนอตั้ง “นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ” อดีตประธาน กกพ.เป็นข้าราชการการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปแล้วด้วย
โดยรายชื่อ “คณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน” ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ จำนวน 8 ราย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 และรัฐมนตรีพลังงานมีการสั่งเบรคกระบวนการสรรหาเอาไว้ก่อนประกอบด้วย
1. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน
2. นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
3. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
4. นายพสุ โลหารชุน ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
5. นายคมสัน เหล่าศิลปเจริญ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นผู้ประกอบกิจการพลังงาน
6. นายขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ ผู้แทนสภาวิศวกร
7. นายพงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ผู้แทนอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
8. นายสมศักดิ์ สันธินาค ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ
ซึ่งในภายหลังที่เสนอชื่อตั้งไปนั้น ตรวจพบในภายหลังว่ามีบางคนที่อาจมีคุณสมบัติขัดต่อการเป็นกรรมการสรรหา เพราะถือหุ้นในนิติบุคคลที่ประกอบกิจการพลังงาน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระบวนการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ล่าช้าเนื่องจากต้องรอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอรายชื่อคณะกรรมการสรรหา กลับเข้าไปให้ ครม.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง จึงจะเริ่มกระบวนการสรรหาได้ โดยอาจจะมีบางรายชื่อที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่ขัดต่อการเป็นคณะกรรมการสรรหา ไม่ได้ถูกเสนอกลับเข้าไป ซึ่งเชื่อว่า กระบวนการต่างๆน่าจะแล้วเสร็จได้ชื่อกรรมการ กกพ. ก่อนเดือน พฤษภาคม เพราะไม่เช่นนั้น การทำงานของ กกพ.จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะกรรมการที่ครบวาระ ที่มีความรู้ด้านกิจการไฟฟ้าคือ นายสหัส ประทักษ์นุกูล จะมีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ซึ่งจะไม่สามารถทำหน้าที่รักษาการได้ เช่นเดียวกับกรณีของนายเสมอใจ และจะเหลือกรรมการ กกพ.ที่ทำหน้าที่ต่อไปได้เพียง 5 คน ทั้งนี้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ระบุว่า การทำงานของ กกพ.ที่จะทำหน้าที่ตามกฏหมายได้จะต้องมีกรรมการตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า อำนาจหน้าที่ของกรรมการ กกพ. อยู่ในมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญ ที่คนในวงการพลังงานต้องติดตามว่า ทั้ง 4 รายชื่อของ กกพ.ที่จะตั้งใหม่ เพื่อทำหน้าที่ร่วมกับ กกพ.ที่ยังเหลืออยู่ทั้ง 3 คน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะเป็นใครบ้าง
โดยบทบาท อำนาจหน้าที่ของ กกพ.นั้นต้องกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ การออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน การกำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า การกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์การจัดหาและประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้า กำกับดูแลขั้นตอนการคัดเลือกให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เสนอความเห็นต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้า แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงาน ต่อคณะรัฐมนตรี